Business

ชาวสวนยาง รอเลย คาด ราคายางพุ่ง หลังตรุษจีน หลังน้ำยางในตลาดลดลง

ชาวสวนยาง รอเลย กยท. คาดความต้องการพุ่งหลังตรุษจีน ปริมาณน้ำยางในตลาดลดลง ดัน ราคายาง เพิ่มตาม กยท. แนะขายให้ถูกจังหวะ

นายกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ข่าวดี ชาวสวนยาง โดยสถานการณ์ ราคายาง ในช่วงนี้ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจาก ปริมาณน้ำยางสด ออกสู่ตลาดน้อยลง โดยปัจจัยหลักมาจาก ฤดูปิดกรีดยาง ตอนนี้พื้นที่สวนยางในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมถึงภาคใต้ตอนบน เข้าสู่ช่วงผลัดใบ และหยุดกรีดแล้ว

ราคายาง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจยาง ของ กยท. พบว่าเดือน ม.ค. 2564 มีปริมาณผลผลิตน้ำยาง ออกสู่ตลาด 519,614 ตัน และคาดการณ์ว่า ในเดือนก.พ. นี้ ปริมาณน้ำยางจะเหลือ 353,224 ตัน ลดลง 32% และจะลดลงต่อเนื่องไปจนถึง เดือนเม.ย. ซึ่งลดลงจากเดือนม.ค. ถึง 80%

ดังนั้น จึงสะท้อนให้เห็นว่า ผลผลิตน้ำยางในตลาดกำลังลดลง ประกอบกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น หลังเทศกาลตรุษจีน จึงสอดคล้องกับแนวโน้มราคายาง ที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้น ในทิศทางบวก ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยาง

ขณะที่ กยท. พยายามกระตุ้นการดึงน้ำยางสด ออกจากตลาด โดยการดำเนินโครงการ บริหารจัดการน้ำยางสด ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2564 ด้วยการสนับสนุนให้ สถาบันเกษตรกร ชะลอการขาย เก็บรวบรวมน้ำยางสดไว้ รอจังหวะที่ตลาดมีความต้องการ เช่น ในฤดูปิดกรีดที่ราคายางสูงขึ้น หรืออยู่ในระดับราคา ที่สถาบันเกษตรกร เห็นว่าเหมาะสมแล้ว ค่อยนำออกมาขาย

นอกจากนี้ กยท. ได้จัดหาอุปกรณ์แทงค์เก็บน้ำยางสด พร้อมสารเคมี เพื่อยืดระยะเวลาเก็บรักษา น้ำยางสด ให้คงคุณภาพไว้ได้ 1-2 เดือน และสามารถกู้ยืมเงิน จากกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) เพื่อใช้เป็นเงินทุนซื้อ น้ำยางสด มาจัดเก็บตามมาตรการดังกล่าว

การดำเนินงานดังกล่าว มีเป้าหมายดึงน้ำยางออกจากตลาดได้กว่า 2 แสนตัน เบื้องต้นเดินหน้าแล้ว ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วม และรับแทงค์รวบรวมน้ำยางสดแล้วกว่า 90 ถัง และในสัปดาห์นี้ และเร่งดำเนินการเพิ่มเติม ในจังหวัดตรัง และจังหวัดพัทลุง

ยาง

ด้านนายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการ กยท. เปิดเผยว่า กยท.ได้ดำเนินโครงการ ส่งเสริมการทำสวนยาง ในรูปแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนเกษตรกรชาวสวนยาง ในโครงการ 18,095 ราย พื้นที่สวนยาง จำนวนกว่า 270,000 ไร่

โครงการดังกล่าว มุ่งพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สู่การเป็น สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 5 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาด และการบริหารจัดการ โดยบูรณาการร่วมกัน ทั้งเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง หน่วยราชการ และภาคเอกชน

ทั้งนี้ มีการกำหนดเป้าหมายให้มี โรงงานแปรรูปยางพารา ครอบคลุมพื้นที่ทุกเขตของ กยท. ทั้ง 7 เขต วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 700 ล้านบาทต่อปี

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ได้อนุมัติโครงการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำยางข้น ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ยางพารา ให้กับ สหกรณ์เครือข่ายยางพาราจังหวัดตราด จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานน้ำยางข้น ของสถาบันเกษตรกรโรงงานเดียว ที่รับซื้อน้ำยางสด มาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น

ทั้งนี้ กยท. สนับสนุนเงินอุดหนุนจากมาตรา 49 (3) วงเงินกว่า 31 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิต โดยหลังจากปรับปรุงโรงงาน จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้น จากเดิม 3 เท่าต่อวัน จึงสามารถรองรับน้ำยางสดจากเกษตรกรในภูมิภาคได้มากขึ้นด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo