COVID-19

ผู้บริโภค ‘คนไทย’ เปลี่ยนไปอย่างไร หลังยุคโควิด-19 ระบาด

การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้โลกใบนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ผู้คนทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตมาเป็นวิถีปกติใหม่ (New Normal) เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับไวรัสได้

ทีมพัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูล ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มองย้อนไปในปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า ไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนไทยในด้านการใช้ชีวิต เศรษฐกิจ และธุรกิจในหลากหลายแง่มุม

ยุคหลังโควิด-19 New Normal

ประเด็นแรกคือ ทำให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่ำที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยค่าประมาณการอยู่ที่ติดลบ 4.3% โดย GDP ของประเทศสหรัฐติดลบประมาณ 3.6%, ประเทศจีนเติบโต 2%, ญี่ปุ่นติดลบ 5.3% และประเทศไทยติดลบ 6.5%

นอกจากนี้ โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยอย่างหนัก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2563 ลดลง 81.4% โดยนักท่องเที่ยวจีนลดลงมากเป็นอันดับ 1 ถึง 87.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามมาด้วยอันดับ 2 ประเทศมาเลเซียติดลบ 83.5%, อันดับ 3 ประเทศอินเดียติดลบ 85.5% และอันดับ 4 ประเทศเกาหลีใต้ติดลบ 84.8%

แต่ที่น่าสนใจคือ มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หลังยุคโควิด-19 ทำให้หลายคนคุ้นเคยกับการทำงานจากบ้าน (Work from Home: WFH) มากขึ้น ในวันหยุดแทนที่จะออกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า เดินเล่นอย่างเคย ผู้คนกลับเลือกที่จะอยู่บ้าน ทำให้ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการอยู่ที่บ้าน (Stay at home) เติบโตขึ้นอย่างน่าสนใจ

แนวคิดเรื่อง Work from Home ยังสะท้อนจากการค้นหาผ่านกูเกิ้ล (Google) ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงล็อกดาวน์ ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 ขณะที่แอปพลิเคชันที่ใช้ในการประชุมออนไลน์ มียอดผู้ใช้งานในเดือนมีนาคม 2563 เพิ่มขึ้นถึง 151% จากปีก่อนหน้า

ด้านข้อมูลจากการฟังเสียงบนสังคมออนไลน์ (Social Listening) ของ ธปท. ก็พบว่า แฮชแท็ก #หารNetflix ได้รับความนิยมสูงในช่วงนี้ สอดคล้องกับข้อมูลของผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง (Video streaming) ที่มียอดผู้ติดตาม (Subscriber) เพิ่มขึ้นถึง 10.1 ล้านราย ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน –  มิถุนายน 2563

shutterstock 1695407743

โอกาสท่ามกลางวิกฤติ

โควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีธุรกิจหลายประเภทที่ได้รับผลกระทบในทางลบ แต่โควิด-19 ก็เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจหลายประเภทที่เติบโตขึ้นแบบสวนกระแส

  • การศึกษาออนไลน์

การระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา คอร์สเรียนออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม – เมษายน 2563 บางหลักสูตรมียอดลงทะเบียนเรียนสูงขึ้นถึง 640% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

  • ประกันสุขภาพ

ผู้คนกังวลกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และหันมาสนใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 ธุรกิจประกันสุขภาพเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 60% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

  • ช้อปปิ้งออนไลน์

การใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ออกจากบ้านไม่สะดวก ทำให้ประชาชนซื้อสินค้าออนไลน์กันมากขึ้น คนที่ไม่คุ้นเคย ก็หันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางนี้ และแม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงล็อกดาวน์ไปแล้ว แต่ข้อมูลพบว่าผู้บริโภคกว่า 60% ก็ยังติดใจ จะเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไป

  • ส่งอาหาร

ธุรกิจการจัดส่งอาหารเป็นอีกธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์จากโควิด-19 เพราะผู้คนต้องสั่งอาหารมาทานที่บ้าน ประกอบกับร้านอาหารที่ปรับตัวมาขายออนไลน์มากขึ้นและสนใจใช้แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารมากขึ้นกว่า 20,000 ร้านต่อสัปดาห์ ทำให้ธุรกิจนี้มีการขยายตัวสูงถึง  78-84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • โทรคมนาคม

ผู้คนต้องใช้เวลาอยู่บ้านนานขึ้น ทำให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผู้หับริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์และอินเตอร์เน็ตมือถือได้รับผลบวกตามไปด้วย โดยในช่วงล็อกดาวน์มีผู้ใช้บริการใหม่เพิ่มมากขึ้น

fig 07 11 2019 05 40 23

เกิดอะไรขึ้นกับ e-Payment ในช่วง โควิด-19 ระบาด

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นครอบคลุมถึงพฤติกรรมการบริโภคและชำระเงิน ซึ่งธุรกิจรับชำระเงินต้องปรับให้ทัน เพื่อรองรับทั้งวิกฤติและโอกาสที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

ทีมพัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูล ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์ผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต่อการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) แล้วพบว่า

การใช้เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เพื่อการจับจ่ายในช่วงล็อกดาวน์ ประมาณเมษายน-พฤษภาคม 2563 มีอัตราลดลง 8.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 2563 กลับมีการเติบโตเพิ่มเป็น 16.2% ส่วนการใช้ e-Money เพื่อการเดินทาง ลดลง 47.5% ในช่วงล็อกดาวน์ ต่อมาติดลบน้อยลงเป็น 10.9% ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563

e-money โควิด-19

การใช้จ่ายผ่านบัตรทางออนไลน์ เพื่อซื้ออาหารในช่วงล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นถึง 682.4% และในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 ก็ยังเติบโตในอัตราสูงอยู่ที่ 325.5% ด้านการจับจ่ายผ่านบัตรในห้างสรรพสินค้าในช่วงล็อกดาวน์ติดลบเล็กน้อยอู่ที่ 0.6% และช่วงปลายปีติดลบเพิ่มเป็น 8.6% ขณะที่การใช้จ่ายผ่านบัตรสำหรับการท่องเที่ยวช่วงล็อกดาวน์ติดลบ 91.1% และเปลี่ยนเป็นขยายตัว 3.8% ช่วงเดือนพฤศิจกายน 2563

การจับจ่ายผ่านบัตรโดยใช้เครื่องรับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) กลับลดลงทุกประเภท โดยช่วงล็อกดาวน์ การจับจ่ายผ่านเครื่อง EDC เกี่ยวกับร้านอาหารลดลง 66.5% และกลับมาเป็นบวก 15.4% ในเดือนพฤศจิกายน 2563 การใช้จ่ายที่ห้างสรรพสินค้าลดลง 66.4% ในช่วงล็อกดาวน์และเติบโตขึ้นเล็กน้อย 2.2% ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ขณะที่การใช้จ่ายผ่านเครื่อง EDC เกี่ยวกับการท่องเที่ยวลดลง 92.5% ในช่วงล็อกดาวน์และติดลบ 35.1% ในเดือนพฤศจิกายน 2563

card payment โควิด-19

การปรับตัวของผู้ประกอบการรับชำระเงิน

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธปท. และผู้ประกอบการธุรกิจระบบและบริการการชำระเงินภายใต้กำกับได้เตรียมความพร้อมและการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่งอ เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการชำระเงินของไทยยังสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้

โดยพบว่าช่วงไวรัส โควิด-19 ระบาด ผู้ประกอบการธุรกิจชำระเงินส่วนใหญ่ถึง 74% เห็นว่าสามารถรับมือกับโควิด-19 ได้ตามแผนที่วางไว้, รองลงมา 18% มองว่าดีกว่าแผนที่วางไว้ และ 8% คิดว่าสามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้อีก

สำหรับ 3 เรื่องที่ควรพัฒนาเพิ่มเติมได้แก่ การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้บริษัทคล่องตัว, การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์/แผนธุรกิจรองรับ New Normal และการจัดเตรียมอุปกรณ์และระบบรองรับการทำงานในช่วง Work From Home

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมีความกังวลหลักใน 3 ประเด็นคือ

  • ความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานในลักษณ Work From Home ที่ไม่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างใกล้ชิด
  • ภัยคุมคามทางไซเบอร์
  • การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของทางการ

ขณะเดียวกันพบว่า ผู้ประกอบการชำระเงินส่วนใหญ่ 61% มองว่าไวรัสโควิด-19 เป็นโอกาสทางธุรกิจมากกว่าความเสี่ยง

หลังยุคโควิด-19 ผู้ประกอบการได้เริ่มปรับตัวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อรองรับพฤติกรรม New Normal ของผู้ใช้บริการ เช่น ขยายขอบเขตการให้บริการ เพิ่มช่องทางบริการของธุรกิจ รวมทั้งวางแผนสถานการณ์ฉุกเฉินแบบเชิงรุกมากขึ้น โดยการจัดเตรียมศูนย์สำรองสำหรับระบบไอทีให้พร้อมเสนอ แบ่งกลุ่มพนักงานที่สามารถทำงานทดแทนกัน ถ้าหากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และกลุ่มพนักงานที่สามารถ Work From Home ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo