Economics

คลังเคลียร์ชัดทำไม ‘ผู้ประกันตน-ข้าราชการ’ ไม่ได้สิทธิ์ ‘เราชนะ’

“กระทรวงการคลัง” เคลียร์ชัด!! ทำไม “กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33” และ “ข้าราชการ” ถึงไม่ได้สิทธิ์ “เราชนะ” ย้ำ!! ผู้ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิ์ได้ถึง 8 มี.ค.นี้

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการ กระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้า การใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ในโครงการเราชนะ ของกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (กลุ่มผู้ถือบัตรฯ) ที่ได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 มียอดการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมหมุนเวียน ในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วมากกว่า 6,400 ล้านบาท

สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า ในกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่ม และร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการเราชนะได้ทางเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือติดต่อที่สาขาของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทย)

เราชนะ

ส่วนผู้ให้บริการรายย่อย ที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง และตรวจสอบได้หรือบริการขนส่งสาธารณะสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการเราชนะได้ทางเว็บไซต์เราชนะ หรือติดต่อที่สาขาของธนาคารกรุงไทย โดยจะมีการแจ้งผลการสมัครเข้าร่วมโครงการผ่านข้อความสั้น (SMS)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ให้บริการรายย่อย ที่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการสามารถดาวน์โหลด (Download) และยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน (User Verification) บนแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อใช้เป็นช่องทางในการรับชำระค่าสินค้าและบริการต่อไป

จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการรายย่อยที่สมัครเข้าร่วมโครงการและผ่านการตรวจสอบแล้วประมาณ 9 แสนรายที่พร้อมรองรับการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ของประชาชนที่ได้รับสิทธิ์จากโครงการเราชนะ

สำหรับกลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com สามารถเริ่มตรวจสอบการคัดกรองคุณสมบัติได้ทางเว็บไซต์เราชนะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการทยอยประกาศผลการคัดกรองคุณสมบัติตามลำดับของวันที่ลงทะเบียน

ทั้งนี้ ประชาชนที่ตรวจสอบคุณสมบัติแล้วพบว่า “ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ” สามารถแสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ได้ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2564 และสามารถตรวจสอบผลการทบทวนสิทธิ์ได้ทางเว็บไซต์เดียวกัน

สำหรับกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ .com แล้ว แต่ได้รับข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนสถานะ “ลงทะเบียนไม่สำเร็จ” ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดในการกรอกเลขประจำตัวประชาชน เลขรหัสหลังบัตรประชาชน (Laser ID) ชื่อ ชื่อกลาง (ถ้ามี) นามสกุล วัน เดือน ปีเกิด สามารถลงทะเบียนใหม่ทางเว็บไซต์เราชนะ ได้ทันทีหลังจากได้รับ SMS แจ้งเตือนจนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 จากข้อมูลล่าสุด มีประชาชนที่สนใจลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com แล้วมากกว่า 10.4 ล้านคน

เราชนะ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังพบว่า มีประชาชนหรือร้านค้าที่ใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการเราชนะ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการติดตามตรวจสอบ และดำเนินการทางกฎหมายในประเด็นดังกล่าวแล้ว

หากตรวจสอบพบว่า มีการกระทำผิดเงื่อนไขจริง จะระงับการใช้แอปพลิเคชันของร้านค้า ตลอดจนการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันที และอาจดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป จึงขอความร่วมมือประชาชน รักษาสิทธิ์ของตนเอง และขอให้ร้านค้า และประชาชนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการเราชนะ

สำหรับประชาชนที่พบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการสามารถแจ้งเบาะแสรวมถึงส่งหลักฐานการกระทำผิดเงื่อนไขโครงการเราชนะทางไปรษณีย์มาได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ถนนพระราม 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail Account) [email protected]

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “กระทรวงการคลัง” ได้ชี้แจงสามาเหตุที่มาตรการเราชนะไม่ให้สิทธิ์กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เพราะกลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับความคุ้มครองทางสังคม เช่น การมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เป็นต้น อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เพื่อดูแลในส่วนนี้แล้ว

ส่วนกรณีที่ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ได้รับสิทธิ์นั้น เพราะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ “โควิด” นั้น กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสถานภาพด้านรายได้เป็นปกติ และมิได้ถูกเลิกจ้างแต่อย่างใด

สำหรับสาเหตุที่ให้เป็นวงเงิน ในการใช้จ่ายแทนการให้เป็นเงินสดนั้น กระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า การให้เงินช่วยเหลือเป็นวงเงินใช้จ่าย ผ่านแอปพลิเคชัน หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีเป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาภาระค่าครองชีพ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการจ่ายเงินในรูปแบบนี้ จะช่วยสนับสนุน ให้มีการหมุนเวียนเศรษฐกิจในท้องถิ่น และผู้ได้รับประโยชน์ เป็นผู้ค้าขายรายย่อยในพื้นที่ ส่งผลให้เป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับฐานรากทั้งประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo