COVID-19

ไม่ต้องเครียด ยื่น ‘ม.33 เรารักกัน’ ไม่ผ่าน เปิดให้อุทธรณ์สิทธิรับเงินเยียวยาได้

ไม่ต้องเครียด ยื่น “ม.33 เรารักกัน” ครั้งแรกไม่ผ่าน “ประกันสังคม” เปิดให้ อุทธรณ์สิทธิ ถึง 28 มี.ค. รับวงเงินเยียวยา 4,000 บาทเท่าเดิม

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการ ม.33 เรารักกัน จะช่วยเยียวยาและแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบกองทุนประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด – 19 โดยรัฐบาลจะจ่ายเยียวยารายละ 4,000 บาท พร้อมย้ำเงื่อนไขคุณสมบัติ ดังนี้

  • เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม
  • ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน)
  • ไม่ได้รับสิทธิโครงการเราชนะ
  • ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท

ม.33 เรารักกัน อุทธรณ์สิทธิ

ไทม์ไลน์ “โครงการ ม.33 เรารักกัน”

ทั้งนี้ จะเปิดให้ผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติ สามารถลงทะเบียนและตรวจสอบการรับสิทธิผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com ตามไทม์ไลน์ ดังนี้

  • วันที่ 21 กุมภาพันธ์ – 7 มีนาคม 2564 ลงทะเบียนและตรวจสอบการรับสิทธิผ่านเว็บไซต์ ม33เรารักกัน.com
  • วันที่ 15 – 21 มีนาคม 2564 ผู้ประกันตนสามารถยืนยันตัวตนผ่านช่องทางแอปพลิเคชันเป๋าตัง
  • วันที่ 22 มีนาคม 2564 รัฐบาลจะเริ่มโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังในทุก ๆ วันจันทร์ ได้แก่ วันจันทร์ที่ 22 , 29 มีนาคม และ 5, 12 เมษายน 2564 ครั้งละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท
  • วันที่ 22 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2564 ผู้ประกันตนสามารถเริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าภายใต้โครงการเราชนะได้

นายสุชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงในกรณี ประกันสังคมมาตรา 33 ที่ตรวจสอบสิทธิแล้วไม่ได้รับสิทธิตามโครงการ ม.33 เรารักกัน สามารถขอ อุทธรณ์สิทธิ ตามขั้นตอนดังนี้

  • วันที่ 15 – 28 มีนาคม 2564 ขอทบทวนสิทธิเข้าร่วมโครงการ ม.33 เรารักกัน
  • วันที่ 5 – 11 เมษายน 2564 กดใช้งานและยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง
  • วันที่ 5 และ 12 เมษายน 2564 รัฐบาลจะโอนเงินเข้าแอปพลิเคชันเป๋าตัง จำนวน 2 ครั้ง ครั้งละ 2,000 บาท
  • วันที่ 5 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2564 ผู้ประกันตนที่ผ่านการทบทวนสิทธิ สามารถเริ่มใช้จ่ายซื้อสินค้าภายใต้โครงการ “เราชนะ” ได้ในวันที่ 5 เมษายน – 31 พฤษภาคม 2564

ทั้งนี้ คาดว่าโครงการ ม.33 เรารักกัน จะมีผู้ประกันตนมาตรา 33 เข้าข่ายมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ 9.27 ล้านคน รัฐบาลใช้วงเงินประมาณ 37,100 ล้านบาท

ตนได้กำชับไปยัง นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้รีบดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับ ในเรื่องของข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์อันพึ่งมีพึ่งได้ ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบันให้ตรงจุด ได้รับสิทธิอย่างทันท่วงที

shutterstock 1088277398

“ประกันสังคมมาตรา 33” คือใคร?

ผู้ประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคมมีทั้งหมด 3 กลุ่ม หนึ่งในนั้นคือ ผู้ประกันตนมาตรา 33

สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ลูกจ้างที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี และทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เรียกง่าย ๆ ว่าส่วนใหญ่เป็น “กลุ่มพนักงานเอกชน หรือ มนุษย์เงินเดือน”

ตามปกติผู้ประกันตนกลุ่มนี้จะจ่ายเงินสมทบประกันสังคม 5% ของค่าจ้าง แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ 7 ด้านจากกองทุน ประกันสังคม ได้แก่ เจ็บป่วย เสียชีวิต ว่างงาน คลอดบุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร

ข้อมูล ณ เดือนมกราคม พบว่า ประกันสังคมมาตรา 33 มีทั้งหมด 11,055,513 คนทั่วประเทศ จากผู้ประกันตนทุกประเภทที่มีทั้งหมด 16,413,666 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo