Economics

ปตท.ประเมินแนวโน้มน้ำมันขยับขึ้น จากความหวังวัคซีนโควิดหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว

แนวโน้มราคาน้ำมันขยับขึ้น จากแรงหนุนพัฒนาวัคซีน ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ขณะโกลด์แมนแซคส์ คาดความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในปีนี้ ยาวถึงปีหน้า

ฝ่ายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คาดว่าในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.5  – 62.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้รับปัจจัยหนุนจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีน COVID-19

ล่าสุด The Lancet international วารสารทางการแพทย์ของรัสเซีย รายงาน วัคซีน Sputnik V มีประสิทธิภาพในการป้องกัน COVID-19 อยู่ที่ 92% ของการทดลองในระยะที่ 3  ประกอบกับนักลงทุนในตลาดยังมีความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโจ ไบเดน วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ว่าจะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น

ล่าสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอยู่ระหว่างผลักดันของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งพยายามอย่างยิ่งโดยการใช้ขั้นตอน “Reconciliation” ซึ่งจะทำให้สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ สามารถออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษี การใช้จ่าย และวงเงินที่เกี่ยวกับหนี้ได้โดยการชนะเสียงข้างมาก (51 เสียง) จากเดิมต้องได้ 60 เสียงจากทั้งหมด 100 เสียง จึงจะสามารถผ่านกฎหมายดังกล่าว

ทางด้านนักวิเคราะห์ Goldman Sachs คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี พ.ศ. 2564 จะเพิ่มขึ้น 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน อยู่ที่ 97.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี พ.ศ. 2565 จะเพิ่มขึ้น 4.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อน อยู่ที่ 102.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันเฉลี่ยในรอบสัปดาห์
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในรอบสัปดาห์ 1-5 ก.พ. 2563

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

การประชุม Joint Technical Committee (JTC) ของกลุ่ม OPEC+ วันที่ 2 ก.พ. 2564 คาดว่าปริมาณสำรองน้ำมันทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2564 จะลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ภายในไตรมาสที่ 2/2564 เนื่องจากกลุ่มผู้ผลิต OPEC สามารถรักษาอัตราความร่วมมือในการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน (Compliance Rate) ในเดือน ม.ค. 2564 อยู่ที่ 103%

ขณะที่ การประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 3 ก.พ. 2564 สมาชิกส่วนใหญ่จะยังคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงเดิม โดยในเดือน ก.พ. 2564 อยู่ที่ระดับ 7.125 ล้านบาร์เรลต่อวัน และซาอุดิอาระเบียจะลดปริมาณการผลิตลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วง ก.พ.- มี.ค. 2564 ทั้งนี้ JMMC กำหนดจะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 3 มี.ค. 64

EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 29 ม.ค. 2564 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 994,000 บาร์เรล อยู่ที่ 475.7 ล้านบาร์เรล ต่ำสุด ตั้งแต่ มี.ค. 2563

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ 

Reuters รายงานการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทของรัสเซีย เดือน ม.ค. 2564 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน  120,000 บาร์เรลต่อวัน  อยู่ที่ 10.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้รัสเซียผลิตคอนเดนเสทประมาณ 700,000-800,000 บาร์เรลต่อวัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

 

Avatar photo