Business

คนกรุงโล่ง! รัฐบาลสั่งเหยียบเบรก เก็บค่าโดยสาร ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ 104 บาท

คนกรุงโล่ง! “อัศวิน” ยอมถออย ลงนามชะลอ เก็บค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 104 บาทไม่มีกำหนด หลังรัฐบาลสั่งเหยียบเบรก

วานนี้ (8 ก.พ.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีเนื้อหาดังนี้

ก54ด6หกด

ตามที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 มอบหมายให้ กทม. บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยได้สร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมเดินรถเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 และ กทม. ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 จัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตราไม่เกิน 104 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป นั้น

กทม. ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสารตามประกาศโดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของ กทม. ให้เกิดความเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยร่วมหารือแนวทางในการดำเนินการกับสภา กทม. เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 แห่งข้อบัญญัติ กทม. เรื่องค่าบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2552 จึงให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศ กทม. เรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลงวันที่ 15 มกราคม 2564 ออกไปก่อน

ประกาศ กทม. รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ย้อนฟัง “กทม.” ชี้แจงค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ทำไม 104 บาท?

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กทม. ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่า จะต้องเริ่ม เก็บค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ในอัตราสูงสุด 104 บาท เนื่องจากต้องนำเงินมาเป็นค่าบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวและชำระหนี้คืนเอกชน โดยปัจจุบัน กทม. ติดหนี้ค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายกับเครือบีทีเอส (BTS) อยู่เกือบ 9 พันล้านบาทและคาดว่จะมีภาระหนี้สินอื่นๆ รวมอีก 1.1 แสนล้านบาท

โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 กทม. ได้ส่งหนังสือชี้แจงเรื่องการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมด มีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจากการเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ และหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต ที่ทยอยเปิดให้บริการเดินรถตั้งแต่ วันที่ 3 เมษายน 2561 และเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยในช่วงทดลองให้บริการซึ่งยังไม่มีการเดินรถเต็มรูปแบบ ไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปีมาแล้ว เนื่องจาก กทม. ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

บัดนี้ เมื่อมีการเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารจากผู้ใช้บริการในส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 โดยผู้ใช้บริการในส่วนหลัก ช่วงหมอชิต–อ่อนนุช จะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิม และจะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก (หมอชิต–อ่อนนุช และสะพานตากสิน–สนามกีฬาแห่งชาติ) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงสะพานตากสิน–บางหว้า และอ่อนนุช–แบริ่ง และช่วงแบริ่ง–สมุทรปราการ และหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต) โดยประชาชนจะจ่ายค่าแรกเข้าสำหรับการใช้บริการโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพียงครั้งเดียวต่อรอบ ปรากฏตามตารางด้านล่างนี้

ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ทั้งนี้ อัตราค่าโดยสารของโครงการสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะอยู่ที่ 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กทม. จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท ซึ่ง กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 จะมีผลขาดทุนถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท รายละเอียดปรากฏตามตารางเปรียบเทียบด้านล่างนี้

ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว

ตลอดเวลาที่ผ่านมา กทม. ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว โดย กทม. ได้พยายามหาทางแก้ไข รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่ง กทม. เห็นว่าแนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เป็นแนวทาง ที่เหมาะสมและดีที่สุดในการที่จะมาแก้ปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจะให้เอกชนเข้ามารับภาระหนี้สินของ กทม. เพื่อที่จะทำให้ กทม. สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนจนเกินสมควร และจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ปลอดภัย สะดวก และมีประสิทธิภาพอยู่เหมือนเดิม

โดยในปัจจุบันนี้ กทม. อยู่ระหว่างการนำเสนอแก้ไขสัญญาสัมปทานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากมีการเห็นชอบแล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานนี้จะช่วยลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดจาก 104 บาท เป็น 65 บาท ลดลง 39 บาท และแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม. ได้ ซึ่งประกอบด้วย

  • ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยในอนาคตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
  • ค่าลงทุนในงานระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายที่ 2 ประมาณ 20,000 ล้านบาท
  • ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่าย อีกประมาณ 9,000 ล้านบาท
  • ภาระผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เอกชนยังต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าที่คาดการณ์ตอนเจรจา

กทม. ยืนยันว่า ภายใต้อำนาจของ กทม. จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่างดีที่สุด เพื่อให้ลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดย กทม. จะอธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับจากการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อรัฐบาล เพื่อที่จะให้สามารถปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสาย ลดลงมาเหลือ 65 บาท โดยเร็วที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo