CEO INSIGHT

‘จีเอ็มกรุ๊ป’แตกไลน์ธุรกิจอาหาร พลิกเกมสื่อสิ่งพิมพ์‘อัสดง’

กว่า 3 ทศวรรษในธุรกิจ “สื่อสิ่งพิมพ์” กับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคในวันนี้  ทำให้ “จีเอ็ม กรุ๊ป” ภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่วัย 70 ปี  “ปกรณ์ พงศ์วราภา” ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  ต้องพลิกเกมเริ่มต้นแตกไลน์ธุรกิจใหม่ นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในภาวะ “ขาลง” มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

จีเอ็มปรับสู่โฮลดิ้งมุ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ปกรณ์ พงศ์วราภา

หลังจากปรับตัวมุ่งสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีเรือธง GM Live  นำทัพ  “ปกรณ์” ยังมองโอกาสในธุรกิจใหม่กลุ่มอาหารและอีคอมเมิร์ซ ที่สอดคล้องกับเทรนด์ธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้

ต้นปี 2561 “จีเอ็ม กรุ๊ป” ได้เริ่มต้นศึกษาธุรกิจอาหาร โดยเปิดตัวบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ GM Interfoods บุกตลาดอาหารแปรรูป โดยมี  “เอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์”  รองกรรมการผู้จัดการ  GM Interfoods  มาร่วมเป็นพันธมิตรและบริหารธุรกิจใหม่ของ จีเอ็ม กรุ๊ป

สำหรับ เอกระพีร์ เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์อยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์เกือบ 30 ปี เริ่มต้นจากงานข่าวปี 2533 กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นปี 2534 เข้ามาทำงานที่สายข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ข่าวสด ปี 2535-2558 หรือกว่า 20 ปีทำงานในเครือ “สยามสปอร์ต” ตำแหน่งสุดท้ายก่อนออก คือ ผู้อำนวยการสายงานธุรกิจสิ่งพิมพ์

หลังออกจากเครือสยามสปอร์ต เอกระพีร์ ตั้งบริษัท โมโนโพเอท จำกัด ทำงานด้านสำนักพิมพ์ เขาถือเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการสิ่งพิมพ์ยาวนาน 30 ปี  มีนามปากกามากมาย อาทิ เอก อัคคี, สุริยฉัตร แก้วทอง, เอกรงค์ ภาณุพงษ์, มิสเตอร์ QC เป็นคอลัมนิสต์ให้กับสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับ ด้วยเนื้อหาหลากหลาย ทั้งธุรกิจสิ่งพิมพ์, พระเครื่อง, วรรณกรรม, ซุบซิบดารา, แนะนำแผ่นเสียง,บรรณาธิการนิตยสาร, ทำรายการทีวี, ผู้จัดรายการวิทยุ ฯลฯ

เอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์ จีเอ็ม กรุ๊ป
เอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์

 แตกไลน์ธุรกิจ GM Interfoods  

เอกระพีร์ เล่าว่าจากประสบการณ์ที่อยู่กับสื่อสิ่งพิมพ์มาทั้งชีวิต จึงเห็นปรากฎการณ์ “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป”ของวงการนี้มาตลอด มาถึงวันนี้สถานการณ์สื่อสิ่งพิม์ “นิตยสาร” ก็ยังคงเป็นช่วง “ขาลง” เหมือนเดิม คนที่อยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ต่างต้องปรับตัว ในช่วงที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญและผู้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์เปลี่ยนพฤติกรรมเสพคอนเทนท์ต่างไปจากเดิม

ช่วงต้นปี 2561 ได้มีโอกาสคุยกับคุณปกรณ์ เจ้าของ จีเอ็ม กรุ๊ป ที่รู้จักกันมากว่า 10 ปี  เกี่ยวกับธุรกิจอาหาร ที่ต่างเห็นโอกาสร่วมกัน จึงได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรเพื่อพัฒนาธุรกิจนี้ โดยจีเอ็มกรุ๊ปจัดตั้งบริษัทใหม่  GM Interfoods  และเขาเป็นผู้บริหาร ด้วยต้องการแตกธุรกิจใหม่นอกจากสิ่งพิมพ์ ที่มองว่าเป็นช่วง “อัสดง”ของธุรกิจนี้

จากประสบการ์ทำงานในธุรกิจมากว่า 30 ปี  รู้ทิศทางว่าธุรกิจใดไปต่อได้ ธุรกิจใดไปต่อไม่ได้และต้องยอมรับความจริง เพราะความจริงเท่านั้นที่ทำให้อยู่รอดได้ เมื่องานด้านสิ่งพิมพ์ไม่ตอบโจทย์ธุรกิจอีกต่อไป ก็ต้องปรับตัว  เมื่อมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงจับมือร่วมกันทำธุรกิจ GM Interfoods ในช่วงต้นปีนี้ แม้ไม่ได้อยู่ในธุรกิจอาหารมาก่อน แต่เชื่อว่าการมีไอเดียและบริหารธุรกิจในยุคใหม่ที่มุ่งทำงานกับพันธมิตร เพื่อให้ทุกฝ่าย “วิน วิน” ก็มีโอกาสในธุรกิจนี้เช่นกัน

“การร่วมมือเป็นพันธมิตรในธุรกิจอาหารกับ จีเอ็ม กรุ๊ป เพราะมองว่า อาหารเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต ที่ต้องมีการซื้อซ้ำ แต่หากมองในมุมของเขา ถือเป็นการ หนีตาย จากธุรกิจสิ่งพิมพ์เช่นกัน”

GM Interfoods จีเอ็ม กรุ๊ป Deedy

ประเดิมสแน็คผัก Deedy 

นับจากจุดเริ่มต้น GM Interfoods ในต้นปี 2561 ได้วางนโยบายการพัฒนาสินค้า 4 กลุ่มหลักที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่  คือ 1.อาหารสุขภาพ(Health) จากเทรนด์การดูแลตัวเองของผู้บริโภค

2.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (Herb) ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านแหล่งวัตถุดิบ และเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาล 3.อาหารพร้อมปรุงและอาหารพร้อมรับประทาน ที่สะดวกสำหรับครอบครัวเล็ก และการพกพาไปรับประทานในสถานที่ต่างๆ และ 4. อาหารสำหรับกลุ่มสูงอายุ  จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย

หลังจากเริ่มจัดตั้งบริษัทและใช้เวลาพัฒนาสินค้า เดือนกันยายนที่ผ่านมา GM Interfoods  ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกแบรนด์ Deedy หรือ ดีดี้  ที่มีความหมายจากสิ่งดีดี  สินค้าแรกคือ “สแน็คผัก” ที่จัดอยู่ในกลุ่มสินค้าสุขภาพ

สำหรับผลิตภัณฑ์ Deedy เป็นอาหารแปรรูป ขนมผักกรอบสุญญากาศ ผลิตจากผัก  5 สายพันธุ์ คือ มันม่วงญี่ปุ่น สายพันธุ์โอกินาวา ฟักทอง ถั่วแขก เห็ดฮังการี แครอท มี 3 รสชาติ  คือ Wasabi Salad (สูตรผงน้ำสลัดวาซาบิ), Seafood Salad (สูตรผงน้ำสลัดซีฟู้ด)  Thousand Island Salad (สูตรผงน้ำสลัดเทาซันไอส์แลนด์)  โดยกระบวนการผลิต ใช้น้ำมันรำข้าว 2% ในการทอด ผลิตด้วยเครื่องจักรมาตรฐาน GMP สลัดน้ำมันออกจึงทำให้ไม่มีน้ำมันตกค้าง  มุ่งทำตลาดคนรักสุขภาพทุกวัย และเป็นสแน็คผักสำหรับเด็ก ที่ผู้ปกครองเลือกซื้อให้บุตรหลาน

“ไอเดียพัฒนาสแน็คผัก มาจากพฤติกรรมของเด็กที่ไม่ชอบรับประทานผัก ขณะที่พ่อแม่ต้องการซื้อสินค้าที่มีประโยชน์ให้ลูก โดยไม่ได้มองราคาเป็นหลัก”

การทำตลาดสแน็คผัก แบรนด์ Deedy เป็นสินค้าที่ต่างจากสแน็คในตลาด โดยวางตำแหน่งตลาดแมสพรีเมียม หรือกลางขึ้นบน  ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับสื่อของเครือ GM  สแน็คผักราคาซองละ 55 บาท  จำหน่ายผ่านช่องทางบีทูเอส  ซึ่งเป็นร้านหนังสือที่มีการปรับตัวสู่ร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไปที่มีหลายหมวดสินค้า เพื่อโอกาสการสร้างรายได้ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Think Space พื้นที่ของความคิด เพื่อจัด “อีเวนท์” เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนักเรียนและพ่อแม่  รวมทั้งกำลังพูดคุยกับช่องทางจำหน่ายอื่นๆ เช่น ดอยคำ ฟู้ดแลนด์ รวมทั้งสนใจกลุ่มโมเดิร์นเทรดที่จะเจรจาในปีหน้า

ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์  ซึ่ง GM Interfoods  ได้พัฒนาช่องทางออนไลน์ โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง เฟซบุ๊ก ไอจี  ไลน์ เว็บไซต์ เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคและจำหน่ายสินค้า

เอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์
เอกระพีร์ สุขกุลพิพัฒน์

ธุรกิจยุคใหม่เอาท์ซอร์ส-ลดต้นทุน

เอกระพีร์ บอกว่าการทำธุรกิจอาหารของ  GM Interfoods มีองค์ประกอบการทำงานเหมือนกับธุรกิจอาหารทั่วไป แต่เป็นการบริหารธุรกิจยุคใหม่ด้วยการเอาท์ซอร์ส งานไปให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านทำงาน ทั้งโรงงานผลิต, การวิจัยผลิตภัณฑ์,การพัฒนาแพ็คเกจจิ้ง  โดยบริษัททำงานการสร้างสรรค์สินค้า จากนั้นเอาท์ซอร์ส ให้ผู้เชี่ยวชาญทำงานต่อ  และดูแลด้านการทำตลาด รูปแบบดังกล่าวทำให้บริษัทไม่ต้องลงทุนในสิ่งที่ไม่เชี่ยวชาญที่ถือเป็นภาระต้นทุนสูง

“การทำธุรกิจในยุคใหม่ ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ใช้คนให้น้อย เคลื่อนไหวเร็ว ผู้นำองค์กรต้องนำตัวเองเข้าไปอยู่ในปัญหา เพื่อเรียนรู้และจบปัญหาให้ได้โดยเร็ว”

ในอนาคตหากธุรกิจฟู้ดเติบโต เขาบอกว่าก็ยังคงหลักการดูแลต้นทุนที่เหมาะสม ด้วยรูปแบบการทำงานแบบเอาท์ซอร์ส แต่พร้อมเปิดกว้างทำงานร่วมกับผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ต้องการเป็นพันธมิตร เช่น โรงงานผลิตสินค้าที่อาจเข้ามาร่วมทุน แต่  GM Interfoods จะไม่ลงทุนเองทั้งหมด เพราะเป็นการทำงานรูปแบบเก่า ที่ต้องมีทุกอย่าง ซึ่งนั่นเท่ากับการแบกต้นทุนไว้กับองค์กร  เพราะยุคนี้เป็นการทำงานกับ “พาร์ทเนอร์” ในทุกด้าน เพื่อ “วิน วิน” ทุกฝ่ายและจัดสรรผลประโยชน์แบบแฮปปี้ทุกฝ่าย

ปี 62 เปิดตัวสินค้าใหม่รายไตรมาส

ในปี 2562 วางแผนเปิดสินค้าไตรมาสละ 1  ประเภท  อย่างน้อย 3 รายการ (SKU)  ปีหน้าจะเห็นไลน์สินค้าใหม่ครบทั้ง 4 ประเภท นอกจากนี้ยังมองตลาดส่งออกทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย

สำหรับ Deedy กำหนดให้เป็นแบรนด์สำหรับสแน็คผัก ขณะที่แบรนด์อื่นๆ จะดูตามความเหมาะสมในการทำตลาด โดยวางแผนพัฒนาแบรนด์ใหม่สำหรับแต่ละกลุ่มสินค้า โดยได้ยื่นจดทะเบียนชื่อแบรนด์ไว้แล้วอีก 5 แบรนด์  ใน 4 ไลน์โปรดักท์ เช่น เครื่องแกงสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง พร้อมทาน อาหารกลุ่มสูงวัย  การวางตลาดจะดูตามสถานการณ์  แนวโน้มกลุ่มสินค้าสูงอายุ มีโอกาสการทำตลาดสูง เพราะสามารถทำตลาดเด็ก และผู้ป่วย ไปพร้อมกัน

การคิดนอกกรอบ ไม่ติดยึดกับแพทเทิร์นเดิม ว่าเมื่อผลิตสินค้าต้องวางจำหน่ายในร้านโชห่วย โมเดิร์นเทรดแล้วจบ แต่สูตรการตลาดใหม่ๆ มีหลากหลายไม่จำเป็นต้องจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด เพราะอาจทำการตลาดอีเวนท์และขายออนไลน์ก็ได้ หากมองว่าสามารถตอบโจทย์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด

“ธงการตลาดของเราไม่ได้อยู่ที่ โมเดิร์นเทรด แต่อยู่ที่อีเวนท์และออนไลน์ การบอกต่อ เพราะเชื่อว่าสินค้าที่มีศักยภาพในตัวเองสามารถขายได้ด้วยรูปแบบการตลาดใหม่ๆ เพียงแต่ต้องให้เวลาในการสร้างการรับรู้”

ในอนาคตอีก 3-5 ปี ธุรกิจอาหารอาจเติบโตเป็นธุรกิจที่เป็นเอกเทศ จากกลุ่มสื่อของ GM หรือสามาถเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยตัวเอง เพราะธุรกิจอาหารเป็นปัจจัย 4 ที่ต้องบริโภคทุกวัน

“หากเรามองธุรกิจอาหารด้วยสายตาที่มุ่งมั่นว่า จะนำพาองค์กรเดินไปในทางข้างหน้าได้ เพราะเป็นสินค้าที่บริโภคซ้ำ ก็จะมีพลังในการขับเคลื่อนและทำงาน”

เป้าหมายของ GM Interfoods  ต้องการเป็นบริษัทด้านอาหารครบวงจร ทั้งการจำหน่ายในประเทศและต่างประเทศ  ธุรกิจอาหารมีมานาน แต่ธุรกิจอาหารที่จะอยู่รอดในอนาคต ต้องเป็นอาหารที่มี “นวัตกรรม”   และ GM Interfoods จะอยู่ในกลุ่มนี้  ทั้งกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการทำตลาด  โดยอาหารทุกประเภทที่ผลิตจะต้องมีอายุการเก็บอย่างน้อย 1 ปี  และพกไปสถานที่ต่างๆ ได้สะดวก

จีเอ็มกรุ๊ป DeedyOK

รุกอีคอมเมิร์ซ Deedy OK 

นอกจากนี้ “จีเอ็ม กรุ๊ป” ยังได้พัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซผ่าน เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น Deedy OK  ซึ่งเป็นมาร์เก็ตเพลส ช่องทางการขายสินค้าครบวงจรให้กับธุรกิจ  GM Interfoods  รวมทั้งจำหน่ายสินค้าทั่วไป  โดยจะเปิดตัวให้บริการในปี 2562

แผนธุรกิจอาหารวางไว้ 5 ปี  อยากเห็นสินค้าของ  GM Interfoods  อยู่ในบ้านของผู้บริโภคทุกกลุ่ม และพกพาไปรับประทานได้ในกิจกรรมต่างๆ  ปี 2562 วาง 100 ล้านบาท ใน 4 ประเภทสินค้า รวมทั้งกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง อยู่ในตลาดที่บริษัทสนใจขยายโปรดักท์

ช่วงต้นปีนี้ คุณปกรณ์ หัวเรือใหญ่จีเอ็ม กรุ๊ป บอกว่า 10 ปีก่อนรายได้ จีเอ็ม  70%  มาจากกลุ่มนิตยสาร  ปัจจุบันลดลงเหลือ 40-50% คาดว่าภายใน 3 ปีจากนี้จะเหลือ 10-15%  ขณะที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จะขยับสัดส่วนขึ้นมาอยู่ที่ 50% ที่เหลือมาจากธุรกิจอื่น ๆ ในเครือ

สำหรับ เอกระพีร์  ที่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรในธุรกิจอาหารกับจีเอ็ม กรุ๊ป มองโอกาสการพลิกเกม “หนีตาย” จากธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในช่วงขาลงเช่นกัน พร้อมใช้ประสบการณ์จากการทำหนังสือมาทั้งชีวิต และวันนี้ได้เปิดประตูอีกบานสู่โลกอีกใบในธุรกิจอาหาร  เห็นโอกาสที่แตกต่างจากคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร เพราะมาจากอีกโลก และมองเห็นสิ่งแปลกใหม่ทุกเรื่อง ที่สามารถนำมาพัฒนาธุรกิจที่แตกต่างได้

โฆษณา หนังสือพิมพ์ นิตยสาร MAAT

มอง “สิ่งพิมพ์”ธุรกิจอัสดง

จากประสบการณ์ทำงานในสื่อสิ่งพิมพ์เกือบ 30 ปี  เอกระพีร์  มองการปรับตัวของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ สู่แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา โดยภาพรวมกำลังเห็นความพยายามปรับตัวครั้งสำคัญของสื่อสิ่งพิมพ์

แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พูดได้ว่าวันนี้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ในช่วง “5 โมงเย็น”ของวงการหนังสือ เรียกว่าใกล้อัสดงของธุรกิจ

หากวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ มาจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ

1.ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งค่าขนส่ง โรงพิมพ์ เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบเช่นกัน  ช่วงต้นปีนี้ 2 โรงงานผลิตกระดาษเพื่อพิมพ์นิตยสารในประเทศไทยเลิกผลิต และปรับไลน์การผลิตเป็นกระดาษรูปแบบอื่น เช่น แพ็กเกจกิ้ง  เนื่องจากความต้องการกระดาษนิตยสารลดลง โดยเปลี่ยนเป็นรูปแบบนำเข้ากระดาษนิตยสารจากญี่ปุ่นและจีน ตามออเดอร์ของนิตยสารแทน ทำให้ต้นทุนกระดาษนิตยสารเพิ่มขึ้น

2.แผงหนังสือปิดตัว โดยเฉพาะแผงย่อยในต่างจังหวัด ที่มีต้นทุนขนส่งเพิ่มขึ้นและทยอยปิดตัว เนื่องจากคนซื้อลดลง  อีกปัญหาสำคัญคือ ทายาทแผงหนังสือไม่สืบทอดกิจการ และเปลี่ยนธุรกิจไปเป็นรูปแบบอื่นๆ  พบว่าจำนวนแผงหนังสือค่อยๆ ลดลง ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อเริ่มเปิดพื้นที่ขายหนังสือ ทำให้หนังสือพิมพ์ ไม่ส่งแผงและหันไปส่งร้านสะดวกซื้อแทน จึงเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่”  ธุรกิจแผงหนังสือเรียกว่าเป็นธุรกิจที่เหนื่อย ทั้งต้นทุนเพิ่ม ผู้ซื้อลดลง มีคู่แข่งร้านสะดวกซื้อ และไม่มีทายาททำต่อ

3.พฤติกรรมผู้บริโภคซื้อและอ่านนิตยสารรูปเล่ม “ลดลง”  และหันไม่รับข้อมูลออนไลน์อ่านฟรีมากขึ้น ซึ่งช่องทางออนไลน์ ไม่ได้ทำลายธุรกิจนิตยสารหรือสื่อสิ่งพิมพ์  เพราะคอนเทนท์ที่นำเสนอในนิตยสารต้องใช้เวลาและขั้นตอนกาพิมพ์ที่กินเวลากว่าออนไลน์ ขณะที่เทคโนโลยีออนไลน์นำเสนอได้รวดเร็วและเรียลไทม์ และพฤติกรรมผู้บริโภควันนี้ ต้องการเสพคอนเทนท์แบบด่วน!!

โฆษณา นิตยสาร MAAT

4.เมื่อผู้อ่านลดลง อีกปัญหาใหญ่ คือ โฆษณาลดลง   ผู้ลงโฆษณาปรับไปใช้สื่ออื่นแทนสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะออนไลน์  ขณะที่รายได้ของนิตยสาร 80%  มาจากโฆษณา  จะเห็นได้ว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ 5 ปีหลัง เม็ดเงินโฆษณาหายไปจากสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งนิตยสารและหนังสือพิมพ์ จำนวนมาก  จึงเห็นการปิดตัวของนิตยสารอย่างต่อเนื่อง ทั้งหัวไทยและต่างประเทศที่มีอายุยาวนาน

ท่ามกลางการพัฒนาเทคโนโลยีและปัญหาที่ถาโถม หากถามว่า “อนาคตสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นอย่างไร”  เอกระพีร์ เชื่อว่าต่อไปจะเหลือนิตยสารที่อยู่รอดได้ไม่เกิน 20 หัว  ส่วนใหญ่เป็นนิตยสารเฉพาะกลุ่ม เช่น เกษตร  กีฬา พระเครื่อง เป็นหนังสือที่อยู่ได้ด้วยยอดขาย  อีกกลุ่มเป็น “นิช มาร์เก็ต” มีภาพสวยงาม สำหรับนักสะสม เช่น นิตยสารนาฬิกา ของสะสม  การตกแต่งบ้าน เป็นต้น

“แต่ถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวอย่างไร จึงจะอยู่รอดได้ เพราะการเข้าสู่ออนไลน์ ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะอยู่รอดได้เช่นกัน”

Avatar photo