Business

ลุยเปิดประมูล ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ รอบใหม่ คู่ขนานลุ้นผลศาลปกครอง

“รฟม.” เดินหน้า เปิดประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” รอบใหม่กลางปีนี้ คู่ขนานลุ้นผลพิพาท “BTS” ในศาลปกครอง บี้ลดเวลาก่อสร้างชดเชยความล่าช้า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงรรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี  มีมติยกเลิกการประมูลว่า

เปิดประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานกรณีดังกล่าวให้ตนรับทราบแล้ว โดยระบุว่า ในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการฯ จะแจ้งให้ศาลปกครองรับทราบว่า ได้มีมติให้ยกเลิกประมูลแล้วและขอถอนอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง ซึ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC

ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะพิจารณาตัดสินอย่างไร ซึ่งไม่สามารถไปคาดการคำตัดสินของศาลได้

แต่ระหว่างที่รอศาลพิจารณาตัดสินเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการมาตรา 36ฯ จะจัดทำเงื่อนไขการประมูล (TOR) รอบใหม่คู่ขนานกันไป โดยตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กำหนดให้ คณะกรรมการมาตรา 36ฯ ต้องนำ TOR ประกาศผ่านทางเว็บไซต์และรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จากนั้นจะต้องนำ TOR มาเสนอให้ตนในฐานะกำกับ รฟม. พิจารณาให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งควรใช้เกณฑ์แบบปกติ คาดว่าจะ เปิดประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้ในช่วงกลางปี หรือราวเดือนมิถุนายน 2564

“มั่นใจว่าจะเปิดให้บริการได้ทันตามกรอบเวลาเดิมคือราว ปี 2568 – 2569 แน่นอน โดยใน TOR ใหม่จะมีการบีบเวลาก่อสร้างให้สั้นลง เพื่อชดเชยความล่าช้าการดำเนินโครงการที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาทกับเอกชน” นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยามกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (9 ก.พ.) กระทรวงคมนาคมจะนำเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ส่วนต่อขยาย) ช่วงศรีรัช-เมืองทองธานี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร  วงเงิน 3.3 พันล้านบาท และโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 16 กิโลเมตร วงเงิน 2.1 หมื่นล้านบาท ให้พิจารณา

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ล้มประมูล

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ มีมติยกเลิกการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท

ในวันเดียวกัน รฟม. ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ได้ออกแถลงการณ์ การพิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีเนื้อหาดังนี้

วันนี้ (3 ก.พ.) คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้พิจารณาแนวทางดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ รวมถึงสถานะของการดำเนินงานในปัจจุบันและเห็นว่า

ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี ส่งผลให้ไม่สามารถคาดการณ์กรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนได้ ซึ่งหากปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไป อาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้การคัดเลือกเอกชนเกิดความล่าช้า และอาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในภาพรวม

ดังนั้น คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ จึงมีมติโดยสรุปว่า ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนสายสีส้มฯ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว และได้มอบหมายให้ รฟม. พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็น

  • ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี)
  • ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ก่อนยกเลิกประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”

รฟม. เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อกลางปี 2563 ประกอบด้วยงานเดินรถตลอดสาย ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ปรับแก้เกณฑ์การให้คะแนนการประมูลกลางอากาศ จากเดิมจะตัดสินผู้ชนะด้วยข้อเสนอด้านราคา 100% ก็เปลี่ยนเป็นให้คะแนนแบบถ่วงน้ำหนัก ข้อเสนอด้านเทคนิค 30% และข้อเสนอด้านผลตอบแทน 70%

ในการประมูลครั้งนี้มีผู้ยื่นซอง 2 กลุ่มคือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR) ซึ่งนำโดยกลุ่มบีทีเอส (BTS) โดย BTS มองว่าการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การให้คะแนนดังกล่าวไม่เป็นธรรม จึงฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางให้ รฟม. กลับมาใช้เกณฑ์ประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม แบบเดิม ซึ่งศาลฯ ก็ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ BTS ร้องขอ

ด้าน รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวและเลื่อนกระบวนการเปิดซองข้อเสนอออกไปก่อน เพื่อรอฟังคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด แต่ล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีมติยกเลิกการประมูลในปี 2563 เพื่อเริ่มเปิดประมูลใหม่ ด้วยเหตุผลว่ากระบวนการศาลใช้เวลาค่อนข้างนาน เกรงว่าจะกระทบต่อการดำเนินโครงการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo