COVID-19

‘ประธานทีดีอาร์ไอ’ จี้รัฐบาล ‘ตื่นตัวมากขึ้น’ แก้ ‘โควิด’ แนะ 6 ข้อจัดการ ‘สมุทรสาคร’

“ดร.สมเกียรติ” ประธานทีดีอาร์ไอ มองสถานการณ์โควิด-ไทย เชื่อการระบาดในสมุทรสาคร น่าจะอยู่ในขาขึ้น มากกว่าขาลง และอาจต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะควบคุมได้ จี้รัฐบาลตื่นตัวมากกว่านี้ พร้อมแนะ 6 ข้อช่วยแก้ปัญหา 

วันนี้ (8 ก.พ.) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กเพจ “Somkiat Tangkitvanich Page” แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ที่กำลังกระจายตัวเป็นวงกว้าง ทำให้การดำเนินมาตรการป้องกัน และควบคุมโรค มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลตื่นตัวในการแก้ไขปัญหามากขึ้น โดยระบุว่า

ccccc

ผมได้ติดตามปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่สมุทรสาคร และในประเทศไทยมาโดยตลอด โดยพยายามหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งจากบุคลากรทางการแพทย์ ข้าราชการ และฝ่ายการเมือง เพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่เป็นอยู่  แต่พบว่าทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไม่ครบถ้วน และให้ภาพที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ การสื่อสารของรัฐ ก็ยังไม่เป็นระบบ และให้ข้อมูลที่ละเอียดมากพอ ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ภาพรวมของสถานการณ์ที่แท้จริงคืออะไร และการรับมือของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพียงพอแล้วหรือไม่

ผมพยายามกลั่นกรองจากข้อมูลต่าง ๆ ที่ไม่สมบูรณ์ดังกล่าว และเชื่อว่า การระบาดในสมุทรสาคร น่าจะยังอยู่ในขาขึ้น ไม่ใช่ขาลงอย่างที่เข้าใจกัน และน่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือน ในการควบคุม เพราะแม้แต่กรณีของสิงคโปร์ ซึ่งเคยมีการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจำนวนน้อยกว่าในประเทศไทย ก็ยังต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนในการแก้ปัญหา ทั้งที่มีการลงทุนต่าง ๆ มากมาย เช่น การสร้างหอพักใหม่ ให้แรงงานต่างด้าวอยู่

การระบาดในวงกว้างของโควิด-19 ที่สมุทรสาคร น่าจะทำให้การควบคุมการระบาดในประเทศไทยโดยรวม ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนมาก และยากที่คนไทยจะกลับมาใช้ชีวิตในลักษณะใกล้เคียง กับความเป็นปกติ และสามารถเปิดการเดินทางกับต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าจะเลวร้ายกว่าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคน ที่ผมได้พบเชื่อกัน

ถึงจุดนี้ ผมเชื่อว่า ยากที่เราจะสามารถควบคุมการระบาดในวงกว้างครั้งนี้ ด้วยวิธีการตรวจสอบ และคัดแยกผู้ติดเชื้อแบบเดิม ที่เคยประสบความสำเร็จในการระบาดรอบแรก โดยทางออกในการแก้ปัญหา น่าจะหนีไม่พ้นการใช้ตัวช่วยที่สำคัญคือ วัคซีน

ผมมีความเห็นว่า การบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยในปัจจุบัน ยังมีลักษณะเหมือนการบริหารราชการปกติ (business as usual) มากกว่าการแก้ไขปัญหา ในสถานการณ์เร่งด่วน เช่น ศบค. ก็ประชุมกันเพียง 2 สัปดาห์ต่อครั้ง

146462109 1056197001549355 7140379649814589070 o

ผมอยากเห็นรัฐบาลตื่นตัวมากขึ้น ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการดังต่อไปนี้

  • เร่งตรวจสอบ และคัดแยกผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาคร ด้วยความเร็วที่มากกว่านี้

ขอความร่วมมือจากภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในวงกว้าง หากเห็นว่าเกินกว่าขีดความสามารถของภาครัฐ จะดำเนินการได้เองโดยลำพัง เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปมาก

  • สื่อสารอย่างชัดเจนเป็นระบบ

เช่น แสดงแผนที่การตรวจ และการระบาดในสมุทรสาครทุกวัน โดยแจ้งจำนวนการตรวจ และอัตราการพบผู้ติดเชื้อ  อธิบายแนวทางในการจัดการเมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้ว

  • จัดทำและประกาศ Road Map แก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยโดยรวม

เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทราบสถานการณ์ตามความเป็นจริง และทราบแนวทางในการร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ที่ทำงานกับแรงงานต่างด้าว สามารถช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาได้มากขึ้น

ที่สำคัญ เมื่อภาคธุรกิจและประชาชนได้ทราบ Road Map และจังหวะเวลาในการแก้ไขปัญหาแล้ว ก็จะสามารถวางแผนธุรกิจ และวางแผนชีวิตของตนได้ดีขึ้น

shutterstock 708591358

  • เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม นอกเหนือจากส่วนที่ได้สั่งจองไปแล้ว

ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้ และแน่นอนว่า ไม่เพียงพอต่อการทำให้ทุกคนได้รับการป้องกัน และมีความอุ่นใจที่จะดำเนินชีวิตตามปกติ โดยควรตั้งเป้า ให้สามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน และผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยครบทั้งหมด ภายในปี 2564 นี้

  • เร่งจัดทำแผนในการฉีดวัคซีนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

โดยจัดลำดับว่าจะฉีดให้แก่กลุ่มใดก่อน (นอกเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง)

ในประเด็นนี้ ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของบางฝ่ายที่ว่า ควรเร่งฉีดในจังหวัดที่มีการติดเชื้อในระดับสูง เช่น สมุทรสาครก่อน โดยฉีดให้แก่แรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว โดยในกรณีของแรงงานต่างด้าว รัฐบาลอาจให้นายจ้างช่วยออกค่าใช้จ่าย ในการจัดหาวัคซีนบางส่วนด้วยก็ได้

  • เร่งขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะส่วนที่ยังไม่มีนายจ้าง

ซึ่งยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก โดยยังน่าจะตกหล่นอยู่หลายแสนคน เพื่อให้สามารถประเมินสถานการณ์ และบริหารความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง

อย่างที่กล่าวมาแล้ว ความเข้าใจของผมต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน มาจากความพยายามติดตามข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ หากผมเข้าใจประเด็นใดผิด ผมก็หวังที่จะได้รับคำชี้แจง และหวังว่า อย่างน้อยภาครัฐจะได้ทราบถึงปัญหาในการสื่อสารและปรับปรุงให้ดีขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo