Business

ช้อปดีมีคืน ไม่ช่วย! ค้าปลีก ‘ร่วงแรง’ สภาพคล่องหดหายแบกได้แค่ 6 เดือน

ช้อปดีมีคืน ไม่ช่วย พิษโควิดระลอกใหม่ซ้ำเติม ฉุดค้าปลีกยอดขายวูบ 10-30% สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้สภาพคล่องผู้ประกอบการอยู่ได้แค่ 6 เดือน

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธาน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากผลกระทบของโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบอย่างหนักกับธุรกิจค้าปลีก ทั้งด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก กำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ส่งผลให้ยอดขายของร้านค้าปลีกเกือบทุกประเภท ลดลง 10-30% ขณะที่ โครงการ ช้อปดีมีคืน ไม่ช่วย นักช้อปยังช้อปน้อยกว่าช่วงมาตรการ ช้อปช่วยชาติ

ประธานสมาคมค้าปลีก1

ผลกระทบที่เกิดขึ้น จากโควิด-19

  • ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบด้านยอดขาย ที่ลดลง 10-30%
  • ผู้ประกอบการกล่าวว่า ด้วยยอดขายที่หายไปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อต้นปีที่แล้วจนมาระลอกใหม่เมื่อต้นปีนี้ สภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกไม่เกิน 6 เดือน หากไม่มีมาตรการเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงเป้า
  • ผู้ประกอบการกว่า 80% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงมากว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2563
  • หากเปรียบเทียบยอดขายจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 (วงเงิน 30,000 บาท) เมื่อเทียบกับมาตรการช้อปช่วยชาติ (วงเงิน 15,000 บาท) ในปี 2561-2562 ผู้ประกอบการ 55% ตอบว่า มียอดขายเท่าเดิมและน้อยกว่าเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการ 43% ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% และมีเพียง 2% ที่ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 25%

ข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการ

  • ผู้ประกอบการกว่า 90% อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ โครงการคนละครึ่ง
  • ผู้ประกอบการเสนอแนะให้ภาครัฐ ช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องอย่างเร่งด่วน ด้วยมาตรการภาษีลดภาระค่าใช้จ่าย และ สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว เนื่องจากด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 6 เดือ
  • ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐประกาศการจ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร เป็นการเฉพาะก่อน

จากผลของการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนมกราคม 2564 (รอบการสำรวจข้อมูลระหว่างวันที่ 19-26 มกราคม 2564) โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการสำรวจเป็นรายเดือน พบว่า

สมาคมค้าปลีก1

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ

ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก เดือนมกราคม 2564 ลดลงทันทีอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม และเป็นการปรับลดลง จากความอ่อนไหว จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

ทั้งนี้ แม้ภาครัฐจะใช้มาตรการเข้มข้นเพียง 28 จังหวัด ดัชนีความเชื่อมั่น ก็ยังคงปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อเดือนเมษายน 2563 จากครั้งที่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก ที่ภาครัฐมีมาตรการล็อกดาวน์ ทั้งประเทศ

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ มองว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้น รวมทั้งหวังว่าภาครัฐ น่าจะมีมาตรการเยียวยา และกระตุ้นการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่น น่าจะมีทิศทางเดียวกับดัชนีเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563

สมาคมค้าปลีก2

 

ดัชนีความเชื่อมั่นต่อยอดขายสาขาเดิมแยกตามภูมิภาค

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ต่อยอดขายเดิมรายภูมิภาค ปรับลดลงจากเดือนธันวาคม ในทุกภูมิภาค สะท้อนถึงสภาวะความกังวล ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างชัดเจน โดยเฉพาะภาคกลางซึ่งได้รับผลกระทบจาก super spreader ที่ตลาดกุ้งสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพ และปริมณฑล ที่มีอาณาเขตต่อเนื่องจากจังหวัดสมุทรสาคร

ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มการบริโภค ที่ขยายตัวได้ปานกลาง เนื่องจากประชากรส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายจากอุตสาหกรรมสู่ภูมิลำเนา ผสานกับแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐ ในการสนับสนุนสภาพคล่องและการใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยประคับประคองการบริโภค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการ มองว่า แนวโน้มในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเช่นกัน เนื่องจากมั่นใจว่าภาครัฐ มีบทเรียนจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก เมื่อไตรมาสที่สอง 2563 และคาดหวังว่า คงต้องมีมาตรการเยียวยา และกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐเช่นที่ผ่านมา

สมาคมค้าปลีก3

ดัชนีความเชื่อมั่นแยกตามประเภทร้านค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ จำแนกตามประเภทร้านค้าปลีก เปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคม และเดือนธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทุกประเภท ของร้านค้าปลีก ลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกร้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐที่ประกาศปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในเวลา 3 ทุ่ม

ในทางกลับกัน ผลจากการใช้มาตรการการทำงานจากบ้าน (WFH) ทำให้ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ซ่อมบำรุง เฟอร์นิเจอร์ กลับมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น สวนทางดัชนีความเชื่อมั่นร้านค้าปลีกอื่น ๆ

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า มีความวิตกต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม 2564 ที่ลดลงอย่างทันที ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างชัดเจน

ในขณะที่ในเดือนธันวาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50

สำหรับแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ยังคงมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยกลาง สะท้อนว่าผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ามีความมั่นใจว่า ภาครัฐต้องมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วง 3 เดือนข้างหน้า

ซูเปอร์1

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ร้านค้าปลีกประเภท ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และ ร้านสะดวกซื้อ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม ลดลงมากและรวดเร็ว จากที่ดัชนีความเชื่อมั่นเดือนธันวาคมยังอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงอย่างมาก เมื่อเทียบดัชนีประเภทร้านค้าทั้งสามประเภท

“ดูเหมือนว่าผู้ประกอบการค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต รู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มากกว่าผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ต”นายญนน์กล่าว

เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต กลับมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น สูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า

แต่ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนของผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเล็กน้อย แต่ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อยู่มาก สะท้อนถึงผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อ ไม่มีความมั่นใจในมาตรการภาครัฐที่ผ่านมา อาทิเช่น โครงการคนละครึ่ง ซึ่งร้านค้าสะดวกซื้อไม่ได้รับประโยชน์เลย

การที่ดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้ประกอบการประเภท ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ในเดือนมกราคม มีความเชื่อมั่นดีขึ้น สะท้อนได้ว่าร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการปรับวิถี New Normal ทำงานจากที่บ้าน (WFH) ทำให้มีความนิยมในการปรับภูมิทัศน์ภายในที่อยู่อาศัย ประกอบกับช่วงจัดซื้อจัดจ้างงบประมาณก่อสร้างภาครัฐ และวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างมีการปรับราคาที่สูงขึ้น

ผลจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประเภทร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม มีความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างมีนัยยะชัดเจน มากกว่าร้านค้าประเภทอื่นๆ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมาก และเมื่อเทียบกับความเชื่อมั่นในเดือนธันวาคม 2563 ก็ยังลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะร้านอาหารมักเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการจำกัดเวลาการให้บริการ และจำนวนการให้บริการแต่ละรอบที่ลดลง จากมาตรการเว้นระยะห่าง Social Distancing

ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการร้านอาหารภัตตาคาร เครื่องดื่ม ในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ดีขึ้นกว่าเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ภาครัฐน่าจะควบคุมด้วยมาตรการที่เข้มข้นได้ดี

สมาคมฯ คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวในระยะข้างหน้า จะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทธุรกิจค้าปลีก ที่สำคัญ หากการระบาดของโควิด-19 กินระยะเวลายาวนานขึ้น ความแตกต่างของการฟื้นตัวนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo