Politics

‘หมอธีระ’ ย้ำ! สู้ศึกโควิด วัคซีนป้องกันโรคต้องหลากหลาย

“หมอธีระ” เผยยอดผู้ติดเชื้อ “โควิด” ล่าสุดอยู่ที่ 106,629,569 คน เสียชีวิตรวม 2,325,703 คน ชี้การระบาดหนักหนากว่าระลอกแรก ย้ำ! สู้ศึกโควิด วัคซีนป้องกันโรคต้องหลากหลาย

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงาน ยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ โดยระบุว่า สถานการณ์ทั่วโลก 8 กุมภาพันธ์ 2564 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคมเป็นต้นมา แนวโน้มการติดเชื้อต่อวันของโลกค่อย ๆ ชะลอตัวลงมา อยู่ในระดับช่วงปลายตุลาคมปีที่แล้ว ราวเกือบห้าแสนคนต่อวัน

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการล็อคดาวน์ของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุโรป ยังไม่ใช่ผลจากการฉีดวัคซีน เพราะจำนวนการฉีดยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดในแต่ละประเทศ กว่าจะเริ่มเห็นคาดว่าน่าจะเป็นช่วงมีนาคมเป็นต้นไปในบางประเทศ

หมอธีระ

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 328,545 คน รวมแล้วตอนนี้ 106,629,569 คน ตายเพิ่มอีก 7,682 คน ยอดตายรวม 2,325,703 คน

  • อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 86,767 คน รวม 27,594,868 คน ตายเพิ่มอีก 1,543 คน ยอดตายรวม 474,669 คน
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 4,109 คน รวม 10,831,279 คน
  • บราซิล ติดเพิ่ม 26,845 คน รวม 9,524,640 คน
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 16,048 คน รวม 3,967,281 คน
  • สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 15,845 คน รวม 3,945,680 คน ยอดตายรวมขณะนี้ 112,465 คน
  • อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน
  • แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ อิสราเอล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น
  • แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่องแบบทรงตัว
  • เกาหลีใต้ และไทย ติดเพิ่มหลายร้อย ส่วนจีน ฮ่องกง เวียดนาม และสิงคโปร์ ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่กัมพูชา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

ล่าสุดแอฟริกาใต้ประกาศหยุดแผนการฉีดวัคซีนของ Astrazeneca/Oxford ไว้ แม้จะได้วัคซีนมาหลักล้านโดสแล้วก็ตาม เนื่องจากทราบผลการศึกษาเบื้องต้นที่ชี้ว่า วัคซีนอาจไม่ได้ผล ในการป้องกันการติดเชื้อ แบบมีอาการน้อยถึงปานกลางจากไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่คือ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่ระบาดในประเทศ โดยจะหันไปใช้วัคซีนของ Pfizer/Biontech และ Johnson&Johnson แทน

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดหาวัคซีนที่มีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถมีตัวเลือกในการจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างทันเวลา เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ มีข่าวว่าทาง Astrazeneca/Oxford ก็กำลังทำการศึกษาวิจัยดัดแปลงวัคซีนให้สู้กับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ใหม่ โดยอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง คงต้องเอาใจช่วยและติดตามกันต่อไป

วิเคราะห์สถานการณ์ของเรา… การเรียงตำแหน่งของกลยุทธ์ หรือที่เราเรียกว่า Strategic alignment นั้นมีความสำคัญมาก และส่งผลต่อความสำเร็จในการสู้ศึก

เราเรียนรู้จากระบาดซ้ำครั้งนี้ว่า หนักหนาสาหัส เอาอยู่ เพียงพอ… ล้วนเป็นความคาดหวังที่ดูแล้วไม่ใช่ความจริง

กุญแจแห่งความสำเร็จในการสู้ศึกระลอกแรกนั้นคือ การสั่งการ และจัดการอย่างเป็นระบบ ทิศทางเดียวกัน และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศได้พร้อมกัน

ในขณะที่ระลอกสองนั้น ใช้แนวทางยืดหยุ่น และให้จัดการกันเองในแต่ละพื้นที่ โดยอาศัยการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ การตอบสนองจึงอาจไม่เหมือนระลอกแรก

หากใช้ความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นแสงสว่างชี้ทาง โดยดูจากบทเรียนการเผชิญการระบาดซ้ำของประเทศต่าง ๆ จะช่วยให้เราวางแผนจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะรู้ว่าธรรมชาติของการระบาดเป็นเช่นไร โอกาสสำเร็จในการสู้ศึกมีมากน้อยเพียงใด และสู้รบแบบใดจะมีโอกาสแพ้ชนะมากน้อยแตกต่างกันเท่าใด

อย่างที่เคยเล่าให้ฟังกันไปแล้วว่า จะสู้สำเร็จ มักต้องมีนโยบายที่เคร่งครัดและทันเวลา ระบบการตรวจคัดกรองที่ครอบคลุม มาก และต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือของประชาชนอย่างพร้อมเพรียง

การระบาดของเราหนักหนากว่าระลอกแรก คุมได้ยาก กระจายเร็ว เพราะอาจไม่บรรลุทั้งสามข้อข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม มาถึงจุดนี้ ต้องให้กำลังใจให้มีสติ และช่วยกันสู้ต่อไป โดยทราบว่าสถานการณ์ถัดจากนี้ เฉลี่ยแล้วน่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 6-8 สัปดาห์ จึงจะเห็นผลลัพธ์ของระลอกสอง ว่าจะกดเหลือหลักหน่วย หลักสิบ หรือหลักร้อยต่อวัน

ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการศึกจะเป็นตัวทำนายหลักสำหรับศึกในครั้งถัด ๆ ไป ตามบทเรียนที่เห็นจากต่างประเทศทั่วโลก

แนวทางการสู้ศึกนี้คงหนีไม่พ้นสามข้อข้างต้น ที่ต้องช่วยกันขันน็อตให้แน่นทั้งเรื่องนโยบาย ระบบตรวจคัดกรอง และความร่วมมือในการป้องกันตัวของประชาชน

แต่ที่เป็นห่วงมากคือ การละสายตาไปพยายามมองหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวต่างประเทศ เช่น การแพลมแนวคิด Vaccination passport ที่ลึก ๆ คงหวังจะโกยเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศหากมีประวัติได้รับวัคซีนแล้ว แม้จะอ้อมแอ้มว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลานี้ก็ตาม

สมาธิที่หลุดไปจากการควบคุมการระบาดเป็นสิ่งที่น่ากลัวนะครับ

บทเรียนจากระลอกนี้ เราเห็นความไม่พร้อม ไม่เพียงพอ และไม่สอดคล้องกันของระบบต่าง ๆ เรื่องนี้ต้องยอมรับกันเสียที

จะสู้ศึกระยะยาวได้ โดยที่ประชาชนในประเทศมีสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิต จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบเชิงยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็ง ดังต่อไปนี้

หนึ่ง “ระบบตรวจคัดกรองที่มีสมรรถนะตรวจได้มาก มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่ และทำได้ต่อเนื่อง” ไม่ใช่เต็มที่แค่ระดับ 10,000 กว่าตัวอย่างต่อวัน ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

สอง “ระบบการดูแลรักษาที่มีทรัพยากรมากเพียงพอ” ทั้งคน เงิน อุปกรณ์ป้องกัน หยูกยา รวมถึงเตียงและสถานที่ โดยมีระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย ทั้งต่อบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน ทั้งนี้ต้องไม่ให้เกิดภาวะที่เกินคาดหมาย และหยุดตรวจเพราะกลัวเตียงเต็ม หรือต้องมาเร่งสร้างรพ.สนามแบบกระทันหัน และมีปัญหาในการเจรจากับพื้นที่

สาม “วัคซีนป้องกันโรค” ที่มีหลากหลาย มีประสิทธิภาพสูง ปริมาณมากพอ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างถ้วนทั่ว ก่อนหน้าที่จะคิดหามาตรการเพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำในประเทศอย่างการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา

ต้องไม่ลืมว่า วัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ยัง “ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิดอย่างเพียงพอ” แต่ป้องกันการป่วยรุนแรง แม้การป้องกันการป่วยรุนแรงก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ 100% เลยสักตัวเดียว

วัคซีน Pfizer/Biontech และ Moderna ประสิทธิภาพมากสุดคือประมาณ 95% แต่เราไม่มี

วัคซีนที่เราวางแผนจะใช้นั้น Astrazeneca/Oxford มีประสิทธิภาพแบบ full dose/full dose ประมาณ 63.1% (ช่วงความเชื่อมั่น 51.8-71.7%)

ในขณะที่วัคซีน Sinovac ของจีน ผลการศึกษาระยะที่สาม ยังไม่เห็นการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ แม้จะมีข่าวออกทางสื่อมวลชนหลากหลายประเทศก็ตาม ก็จำเป็นต้องรอดูผลวิจัยโดยละเอียด

ทั้งนี้การระบาดของไวรัสที่กลายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์สหราชอาณาจักร บราซิล และแอฟริกา ก็ล้วนทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดซ้ำได้มากขึ้นทั่วโลก

โดยวัคซีนแต่ละชนิดตอนนี้ก็ยังมีข้อมูลแตกต่างกันไป วัคซีนบางชนิดพบว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนยังได้ผลกับบางสายพันธุ์ แต่วัคซีนบางชนิดกลับไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยลงมาก

“ดังนั้น หากไม่มีวัคซีนที่หลากหลายเพียงพอ และไม่มีมากเพียงพอสำหรับคนในประเทศ การเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะได้วัคซีนมาก่อนก็ตาม ก็ย่อมมีโอกาสนำพาเชื้อเข้ามาสู่ในบ้านได้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ แต่เป็นเพียงการลดความรุนแรงของโรค” หมอธีระ กล่าว

นี่คือสิ่งที่ประชาชนอย่างเรา ๆ ควรรู้ และช่วยกันจับตาดูความเคลื่อนไหว เรียกร้องให้เกิดมาตรการที่เน้นสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน

ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือ อยู๋ห่างๆ คนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการกินดื่มในร้าน ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า ลดละเลี่ยงการรวมกลุ่มกันสังสรรค์ปาร์ตี้ท่องเที่ยว

คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงานและไปตรวจรักษา

ด้วยรักต่อทุกคน และเอาใจช่วยเสมอ

อ้างอิง South Africa halts rollout of AstraZeneca vaccine. Financial Times. 8 February 2021.
AstraZeneca’s Vaccine Does Not Work Well Against Virus Variant in South Africa. New York Times. 7 February 2021.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK