COVID-19

เช็คเลย! 63 จังหวัดติดโควิด ‘หมอบุ๋ม’ ชี้ ต้องระวังคนนำเชื้อเข้าบ้าน ย้ำ อย่าเข้าพื้นที่เสี่ยง-งดปาร์ตี้

ข้อมูลของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2569 ถึงเวลา 11.00 น. วันนี้ (6 ก.พ.) จังหวัดที่มีผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ที่ 63 จังหวัด 

ภาคเหนือ : พบการระบาดรอบใหม่ใน 8 จังหวัด ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ ยอดสะสมผู้ติดเชื้อที่ 42 คน

ภาคกลาง : พบการระบาดรอบใหม่ใน 18 จังหวัด ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 476 คน ยอดสะสมผู้ติดเชื้อ (รวมแรงงานต่างด้าว) ที่ 16,422 คน

ภาคตะวันออก : พบการระบาดรอบใหม่ใน 7 จังหวัด ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ ยอดสะสมผู้ติดเชื้อ (รวมแรงงานต่างด้าว) ที่ 1,524 คน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : พบการระบาดรอบใหม่ใน 13 จังหวัด ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้  ยอดสะสมผู้ติดเชื้อ (รวมแรงงานต่างด้าว) ที่ 71 คน

ภาคตะวันตก : พบการระบาดรอบใหม่ใน 5 จังหวัด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 คน ยอดสะสมผู้ติดเชื้อ (รวมแรงงานต่างด้าว) ที่ 110 คน

ภาคใต้  : พบการระบาดรอบใหม่ใน 9 จังหวัด ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ ยอดสะสมผู้ติดเชื้อที่ (รวมแรงงานต่างด้าว) 39 คน

รวมยอดติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ ในประเทศวันนี้ที่ 479 คน ยอดสะสมผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศที่ 18,208 คน

TH ระลอกล่าสุด แต่ละภาค 011

พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจังหวัดที่เหลือผู้ติดเชื้ออยู่เพียง 16 จังหวัด

พร้อมกันนี้ ยังได้ยกตัวอย่าง เคสผู้ป่วยชายไทย อายุ 95 ปี อาศัยในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้ป่วยติดเตียง เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2564 ตรวจพบว่า ติดเชื้อโควิด หลังจากมีการสอบสวนโรคพบว่า ผู้ป่วยมีลูกจ้างชาวเมียนมา 3 ราย เป็นผู้ดูแล ทำหน้าที่ใกล้เคียงกัน คือ พ่นยา ดูดเสมหะ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นผู้ป่วยติดเตียง สิ่งที่คาดคิดไว้คือติดเชื้อมาจากผู้ดูแล ที่รับเชื้อมาจากข้างนอก และมาติดกับผู้ป่วย

“ฉะนั้นสิ่งที่ต้องย้ำคือ หากบ้านใดที่มีแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะอาศัยในบ้าน หรือไปกลับ ก็ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อ และนำเชื้อเข้ามาในบ้าน อาจต้องพูดคุยกันว่า ตอนนี้มีการระบาดโควิดอยู่ ให้แรงงานเฝ้าระวังตัวเอง ไม่เข้าพื้นที่เสี่ยง หรืองดการปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อนในช่วงวันหยุดก่อน เพราะนอกจากติดเชื้อแล้วยังมีโอกาสแพร่มาให้คนในบ้าน ที่อาจมีความเสี่ยงอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตได้” พญ.พรรณประภากล่าว

พญ.พรรณประภา กล่าวว่า หากแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 ก็จะต้องเข้าสถานกักกันโรค หรือเข้ารักษาที่สถานพยาบาล ซึ่งนำมาสู่การสูญเสียรายได้ เป็นปัญหาของสุขภาพกาย และสุขภาพใจหลังจากนี้ จึงต้องเน้นย้ำให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังจุดนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo