COVID-19

กทม.น่าห่วง! ศบค.เตือน จัดปาร์ตี้ ‘ดื่มแอลกอฮอล์’ ทำระวังตัวน้อยลง เจอ 4 งานติดเชื้ออื้อ

ศบค.เตือน จับกลุ่มจัดงานเลี้ยง ดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ระวังตัวน้อยลง ยกตัวอย่าง 4 เคส คนร่วมงานติดโควิดเกือบทั้งหมด จี้สถานที่ทำงาน เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ

วันนี้ (5 ก.พ.)  พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครว่า  ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์เกี่ยวกับการติดเชื้อในชุมชนเมือง โดยเฉพาะการจัดเลี้ยงส่วนตัว โดยมีตัวอย่าง 4 งาน

cell virus ๒๑๐๒๐๕

งานแรก มีผู้ร่วมงานเลี้ยง 30 ราย ปรากฏว่าติดเชื้อ 9 ราย สาเหตุที่มีผู้สัมผัสแล้ว ไม่ติดเชื้อในงานดังกล่าว เนื่องจากร่วมกิจกรรมเป็นระยะเวลาสั้น นำของขวัญมาให้แล้วกลับ ขณะที่ผู้ติดเชื้อ มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์แก้วเดียวกัน และอยู่ร่วมงานเป็นเวลานาน

งานที่สอง มีผู้ร่วมงานเลี้ยง 13 ราย ติดเชื้อ 10 ราย โดยทั้ง 10 ราย มีประวัติดื่มจากแก้วเดียวกัน

งานที่สาม มีผู้ร่วมงาน 7 ราย ติดเชื้อ 7 ราย เนื่องจากอยู่ในสถานที่แออัด ไม่มีระบบระบายอากาศ เต้นรำโดยไม่ใส่หน้ากากตลอดงาน

งานที่สี่ มีผู้ร่วมงาน 16 ราย ติดเชื้อ 16 ราย เนื่องจากดื่มเครื่องดื่มจากแก้วเดียวกัน ในลักษณะเล่นเกม อยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน ใช้มือหยิบน้ำแข็ง อยู่สถานที่แออัดเกิน 15 นาที มีการสัมผัสใกล้ชิด

พญ.อภิสมัย  ระบุว่า สิ่งที่เน้นย้ำมาตลอดคือ แม้จะมีการจัดงานเลี้ยงอย่างรัดกุม แต่เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ไป แม้เพียงไม่มาก จะทำให้เกิดความผ่อนคลาย เฉื่อยชา ตอบสนองน้อยลง ขาดความยับยั้ง เสียการควบคุมตัวเอง ไม่ระมัดระวังตัวเอง ดังนั้น ทางสถานบันเทิง ต้องเสนอมาตรการว่าจะดูแลเรื่องเหล่านี้อย่างไร

นอกจากนี้ ในสถานที่ทำงาน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง โดยมีตัวอย่างจากการสอบสวนโรคใน กทม. ที่พบการติดเชื้อภายในสำนักงาน โดยแห่งแรกนั้น เป็นคลินิกเสริมความงาม มีพนักงาน 7 ราย ปรากฏว่าติดเชื้อ 5 ราย

ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการรับประทานอาหารร่วมกันทุกวัน มีการพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร ไม่ได้ใช้ช้อนกลาง

ส่วนแห่งที่สอง เป็นแผนกหนึ่ง ในบริษัทแห่งหนึ่งที่ กทม. มีพนักงาน 10 ราย ติดเชื้อ 9 ราย เนื่องจากผู้ติดเชื้อทุกคน ไม่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน พูดคุยใกล้ชิดเป็นเวลานาน

ดังนั้น จากนี้ไป สถานประกอบการต่าง ๆ ต้องยกการ์ดสูงให้เป็นพิเศษ แม้อยู่ห้องเดียวกัน แต่อย่าวางใจ ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา

IMG 20210205122804000000

ทบทวนมาตรการกักตัว

พญ.อภิสมัย ยังกล่าวถึงกรณีพบผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ และโพสต์ลงในโซเชียล จนมีคำถามว่า เป็นผู้มีลักษณะเสี่ยงสูง แต่ทำไมไม่กักตัวว่า ในบางครั้ง ทาง กรมควบคุมโรค ได้คำตอบว่า กักตัวลำบาก เพราะหลายคนอยู่บ้าน มีสมาชิกครอบครัวในบ้านหลายคน ใช้ห้องน้ำร่วมกัน รับประทานอาหารที่เดียวกัน แยกห้องนอนไม่ได้

ดังนั้น ศบค. จึงมีการทบทวนมาตรการในวันเดียวกันนี้ เพื่อให้มีแนวทางศึกษาการบริหารจัดการการกักตัว สำหรับคนที่พิจารณาแล้วว่า เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสเชื้อ โควิด-19 ที่หากกรมควบคุมโรคสอบสวนพบ จะต้องขอร้องให้บุคคลดังกล่าว ต้องถูกกักตัว ถือว่าไม่มีทางเลือก

ส่วนบุคคลที่อยู่ในภาวะความเสี่ยงกลาง และเสี่ยงต่ำ จะขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชน บุคคลเหล่านี้อาจเกิดความสมัครใจว่า จะต้องไปกักตัวในสถานที่กักตัวของรัฐ หรือเอกชน ที่มีอยู่หลายแห่งในขณะนี้ เพราะบางคนบอกว่าสถานที่อาศัยในปัจจุบันบางแห่งไม่อำนวย เนื่องจากมีผู้สูงอายุ เด็กอ่อน การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การกักตัวเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ศบค. รับฟัง และนำมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกให้สามารถหาช่องทางการกักตัวได้ นอกเหนือจากการกักตัวอยู่ที่บ้าน โดยภาพรวมแล้วการกักตัวโดยความสมัครใจ หรือการที่ถูกบังคับให้กักกันตัว รายละเอียดจะเป็นอย่างไรจะมีการพูดคุยกันภายใน ศบค.ในสัปดาห์หน้า

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เราต้องอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 นี้ต่อไป โดยไม่ตื่นตระหนกมากเกินไป ดังนั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเอง ป้องกันชุมชน การ์ดตกไม่ได้

โดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ร่วมกันทำแบบสอบถามประชาชน เกี่ยวกับพฤติกรรมป้องกันตนเองของคนไทยระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 – 31 มกราคม 2564 จากตัวอย่างประชากร 63,444 ราย

ผลสำรวจที่ออกมา พบว่า ช่วงเดือน พฤษภาคม 2563 ที่คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการแพร่ระบาด ประชาชนป้องกันตัวเองดี แต่การ์ดต่ำสุดในเดือน กันยายน-ธันวาคม 2563 แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดที่จังหวัดสมุทรสาคร ในวันที่ 15-21 ธันวาคม 2563 การป้องกันตัวเองกลับมาเริ่มสูง จนกระทั่งถึงวันที่ 4 มกราคม 2564 ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ การ์ดก็เริ่มตกมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือเป็นพิเศษ ในกรณีของมาตรการองค์กร ถือเป็นหัวใจหลัก เพราะการที่เข้าไปทำงานในสำนักงาน หรือออฟฟิศเดียวกัน เป็นความรับผิดชอบ ที่จะต้องดูแลซึ่งกันและกัน ขอให้ทำให้ได้เหมือนจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการในจังหวัดสมุทรสาคร จับมือแล้วลุกขึ้นมาเป็นทีมเดียวกัน ช่วยกันร่วมแรงร่วมใจ หามาตรการที่ดีที่สุด เพื่อที่จะทำให้การติดเชื้อ แพร่เชื้อ โควิด-19 ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo