COVID-19

ฟันธงแล้ว! ประกันสังคม ‘มาตรา 33’ ได้เงินเยียวยา 4,000 บาท แบ่งจ่าย 4 งวด

ฟันธงแล้ว! ประกันสังคม “มาตรา 33” ได้ เงินเยียวยา 4,000 บาท แบ่งจ่าย 4 งวด “สุชาติ” รับปากเดือน มี.ค. สแกนใช้ได้แน่

วันนี้ (4 ก.พ.) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างงานสัมมนา “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” จัดโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ถึงมาตรการเยียวยาโควิด-19 สำหรับกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 ของกองทุนประกันสังคมว่า ขณะนี้ตกผลึกแล้วว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 คนละ 4,000 บาท

ประกันสังคม มาตรา 33 เงินเยียวยา สุชาติ

เงินเยียวยา 4,000 บาท จะแบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาทผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยผู้ที่มีแอปพลิเคชั่นอยู่แล้วก็ต้องลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อยืนยันสิทธิเช่นเดียวกัน

พรุ่งนี้ (5 ก.พ.) ผมจะลงนามหนังสือเพื่อเสนอไปยัง กระทรวงการคลัง และเตรียมนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทันวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ แต่หากไม่ทัน ครม. สัปดาห์หน้า ก็ต้องเลื่อนออกไป แต่ยืนยันว่าจะได้ใช้สิทธิ์ในวงเงินเดือนมีนาคมนี้แน่นอน” นายสุชาติกล่าว

ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้หารือกับกระทรวงการคลัง เรื่องการจ่ายเงินเยียวยาโควิด-19 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบกองทุนประกันสังคม โดยเมื่อวานนี้ (3 ก.พ.) ได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่าให้เงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ทุกคน วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 และไม่เกิดความเหลื่อมล้้ำในองค์กรเดียวกัน จึงเป็นที่มาของโครงการเยียวยา “ม.33 เรารักกัน”

อย่างไรก็ตาม การจ่าย เงินเยียวยา ประกันสังคม มาตรา 33 มีเงื่อนไขว่า จะไม่จ่ายให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 5 แสนบาท กลุ่มนี้ต้องเสียสละ โดยเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้หารือกันมา 10 วันแล้ว แต่เพิ่งมาตกผลึกเรื่องวงเงินเยียวยาต่อคน

shutterstock 1786433714 e1608656235482

ถกแก้ “เงินชราภาพ” ประกันสังคม

นายสุชาติกล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังมีแผนแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ในบางมาตราที่เป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือผู้ประกันตนในภาวะวิกฤติ โดยกำลังพิจารณาจะแก้ไขเกี่ยวกับประเด็นกองทุนชราภาพ ที่มีวงเงินทั้งหมด 1.8 ล้านล้านบาท และลงทุนในสัดส่วนที่คณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม อนุญาต กำไรเอาไปสมทบกองทุนฯ อีกส่วนนำไปเป็นค่ารักษาพยาบาล

โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี สั่งให้พิจารณาว่ากฎหมายใดล้าสมัยให้แก้ไขปรับปรุง ดังนั้นจึงจะมีการเปลี่ยนรูปแบบกองทุนชราภาพ จากปัจจุบันที่ให้ใช้เงินได้ในช่วงอายุ 55 ปี หรือบั้นปลายชีวิต มาเป็นการดูแลครอบครัวในภาวะวิกฤติได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินนอกระบบ แต่อาจจะแก้ไขให้ใช้ได้ล่วงหน้าเพียง 30% ของวงเงินที่สะสมไว้ทั้งหมดเท่านั้น

แต่ในอีกมุมหนึ่งเงินกองทุนฯ จะหายไปประมาณ 3-4 แสนล้านบาท จะทำให้ตลาดการเงินมีผลกระทบ จึงคิดประเด็นที่ 2 ว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้กองทุนประสังคมช่วยค้ำประกันสินเชื่อจากธนาคาร คือ สำนักงานกองทุนประกันสังคมออกใบสิทธิ์ให้ผู้ประกันตนไปกู้เงินจากธนาคารในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ถ้าหากมีการผิดนัดชำระหนี้จึงมาเก็บกับกองทุนประกันสังคมภายหลัง ซึ่งต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขในระดับ พ.ร.บ. จะต้องมีขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์และนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเป็นใช้ระยะเวลาเป็นปี จซึ่งอาจจะนานเกินไป กระทรวงแรงงานจึงได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สำนักงานประกันสังคมสามารถปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกันตนได้หรือไม่ โดยปีแรกไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ปีที่ 2 ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ปีที่ 3 ชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ถ้าหากใครผิดนัดชำระหนี้ก็มาหักคืนจากกองทุนประกันสังคมเมื่อกฎหมายแก้ไขเสร็จแล้ว ซึ่งจะไม่กระทบตลาดเงิน

 

“มาตรา 33” คือใคร?

ประกันตนมาตรา 33 ในระบบกองทุน ประกันสังคม คือ ลูกจ้างที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี และทำงานในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็น “พนักงานเอกชน”

ผู้ประกันตนกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ 7 ด้านจากสำนักงานประกันสังคม ได้แก่ เจ็บป่วย เสียชีวิต ว่างงาน คลอดบุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ และ สงเคราะห์บุตร

ข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 มีทั้งหมด 11,075,882 คนทั่วประเทศ จากผู้ประกันตนทุกประเภทที่มีทั้งหมด 16,341,171 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo