Environmental Sustainability

‘โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน’ มุ่งสร้างความรู้ สู่พลังงานสีเขียว พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

สำนักข่าว The Bangkok Insight หนึ่งในผู้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) พ.ศ. 2563 จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ร่วมกับเครือข่ายในระดับพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จัดสัมมนา “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” สร้างความรู้ ความเข้าใจ ปูทางแนวคิด “ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน”

สำนักข่าว The Bangkok Insight หนึ่งในผู้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(5) พ.ศ. 2563 จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)  เพื่อดำเนินโครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” ภายใต้แนวคิด “CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน”

ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION

เป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพลังงานสะอาด การสร้างการจดจำ ให้กับภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ในการใช้พลังงานสะอาด สร้างการตระหนักรู้ ในคุณค่าของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักข่าว The Bangkok Insight และองค์กรภาคี เพื่อร่วมกันสื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วม ผ่านเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่

สำนักข่าว The Bangkok Insight ปักหมุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเลือกพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งนับว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ การใช้พลังงานหมุนเวียนสูง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่จัดสัมมนาครั้งที่ 1 ในหัวข้อ “โรงไฟฟ้าชีวมวล กับการอยู่ร่วมกับชุมชน” ภายใต้โครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” สร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อการเติบโตของพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy: RE) ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไป สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก นับเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ที่จะนำมาใช้แทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโรงไฟฟ้าชีวมวลกระจายอยู่ในพื้นที่ถึง 15 จังหวัด มีโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งหมด 71 แห่ง และมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมถึง 949.4 เมกะวัตต์ นับเป็นภาคที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นจังหวัดที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลมากที่สุดถึง 11 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ 8 อำเภอ โดยในปี 2550 นับเป็นปีแรกที่เริ่มมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลถึง 5 แห่ง ใน อำเภอพิมาย 2 แห่ง และ อำเภอครบุรี อำเภอบัวใหญ่ และอำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอละ 1 แห่ง

โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 11 โรง มีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 173.7 เมกะวัตต์ มีปริมาณขายตามสัญญา 111.7 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าทุกแห่ง มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว เช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอครบุรี บริษัท อุตสาหกรรมอ่างเวียน จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอแก้งสนามนาง บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอครบุรี บริษัท ยูนิ พาวเวอร์ เทค จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอสี่คิ้ว และบริษัท อุตสาหกรรมโคราช (โครงการ 1) จำกัด ตั้งอยู่ในอำเภอพิมาย เป็นต้น

ทั้งนี้จังหวัดนครราชสีมา ยังมีพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด ที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวล และเป็นเชื้อเพลิงที่มีศักยภาพ ได้แก่ ไม้ยูคาลิปตัส เหง้ามันสําปะหลัง ซังข้าวโพด กากอ้อย แกลบ และเศษไม้มะม่วง หรือไม้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ไม้ป่า เป็นต้น ซึ่งการผลิตไฟฟ้าชีวมวล การบริหารจัดการเชื้อเพลิง ถือเป็นปัจจัยหลักที่สําคัญ จะทําให้เกิดความยั่งยืนสําหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล ในการสร้างความมั่นคง และความสมดุลของเชื้อเพลิง ให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งในด้านปริมาณและราคา ดังนั้นการกำหนดประเภทของเชื้อเพลิงที่จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้า จึงต้องมองหาเชื้อเพลิง ที่สามารถเป็นหลักประกันได้ในระยะยาว มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และสามารถควบคุมได้ ทั้งในด้านปริมาณ และคุณภาพของเชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า

nakornratchasima 1 e1638861214836

ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION สร้างความรู้ ความเข้าใจ

การจัดสัมมนาครั้งนี้ ยังเป็นการรับฟังมุมมองเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวล จากอุปนายกสมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประจำเขต 6 (นครราชสีมา) ผู้แทนโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ และผู้แทนภาคประชาสังคม ถึงกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้า จากชีวมวลของโรงไฟฟ้าในพื้นที่

การจัดเวทีสัมมนาครั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงกระบวนการบริหารจัดการ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก รวมถึงข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของวิทยากร ในการสร้างรูปแบบ การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชน เป็นเรื่องสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ระหว่างโรงไฟฟ้าชีวมวลกับประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ยังเป็นการสื่อสาร ในการสร้างความรู้ และความเข้าใจ ถึงบทบาทและภารกิจของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า วางมาตรฐานความปลอดภัย ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า จากเชื้อเพลิงชีวมวล ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และชาวบ้านที่ดีขึ้น

shutterstock 94507864 1 scaled e1638861278258

สำนักข่าว The Bangkok Insight เชื่อมั่นว่าประโยชน์ จากการดำเนินโครงการ “ไฟฟ้าสีเขียว GREEN STATION” นอกจากจะช่วยสร้าง ความตระหนัก ในแนวคิด “CLEAN ENERGY FOR LIFE: ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน”แล้ว ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ด้วยการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ไม้ยูคาลิปตัส เหง้ามันสําปะหลัง ซังข้าวโพด กากอ้อย แกลบ เป็นต้น ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ 

โดยการนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ไปผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล และยังเชื่อว่า เมื่อมีโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นในพื้นที่ จะช่วยทำให้เกิดการจ้างงาน ในระดับท้องถิ่นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนในพื้นที่ และชุมชนใกล้เคียงโรงไฟฟ้า รวมถึงการได้ประโยชน์ จากการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3) ซึ่งเป็นกองทุน สำหรับดูแลชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight