Stock - Finance

หุ้นธนาคาร ปี 2564 น่าลงทุนไหม ?

สรุปงบหุ้นแบงก์ ปี 2563 พบกำไรสุทธิหายไป 6 หมื่นล้าน พร้อมวิเคราะห์แนวโน้ม ปี 2564 น่าลงทุนไหม ? กลุ่มไหนเป็นอย่างไร 

ว่ากันว่าหุ้นกลุ่มธนาคาร เป็นหนึ่งในตัวสะท้อนถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี ด้วยธรรมชาติของหุ้นธนาคารที่มีลักษณะเป็น “หุ้นวัฏจักร” (Cyclical Stock) คือ ขึ้นลงตามเศรษฐกิจ เมื่อใดที่เศรษฐกิจดี ผลประกอบการก็จะดีตามไปด้วย แต่ถ้าเศรษฐกิจซบเซา ผลงานของบริษัทก็อ่อนแอลงเช่นกัน

นั่นเพราะว่าธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ถือเป็นปราการด่านแรกที่เวลาเกิดอะไรขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ มักจะกระทบกับผลประกอบการของธนาคารเสมอ เนื่องจากธุรกิจมีความเกี่ยวข้องตั้งแต่ระบบบุคคลรายย่อย ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ 

cover กำไรหุ้นธนาคาร

โดยในปี 2563 กลุ่มธนาคารก็ได้ประกาศประกาศผลประกอบการออกมาครบถ้วนแล้ว ภาพรวมแล้วถือว่าเป็นช่วงที่กลุ่มธนาคารยังโดนกดดันอยู่บ้างจากความกังวลในวิกฤติโควิด-19 และมาตรการพักชำระหนี้ต่างๆ ทำให้ยังมีการตั้งการ์ด โดยมีการตั้งเงินสำรองอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งส่งผลต่อกำไรสุทธิสุทธิโดยตรงที่หดตัวลง วันนี้เราจึงได้สรุปประเด็นสำคัญในงบการเงินปี 2563 ของหุ้นธนาคารมาให้ดูกันครบๆ

ปี 2563 หุ้นธนาคาร กำไรสุทธิหายไป 6 หมื่นล้าน

อย่างที่ทราบกันก็คือปีที่ผ่านมาธุรกิจธนาคารเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก สะท้อนออกมาจากภาพรวมกำไรสุทธิ ปี 2563 ที่ลดลงถึง 64,000 ล้านบาท หรือ ปรับลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยสามารถแยกออกมาเป็นรายธนาคารได้ดังนี้ 

31JAN หุ้นธนาคาร 1

31JAN หุ้นธนาคาร 2

จากข้อมูลจะเห็นว่าในกลุ่มธนาคารใหญ่ ได้แก่ KBANK, SCB, KTB, BBL และ BAY ยังคงครองตำแหน่งรายได้ และกำไรสุทธิสูงสุดเช่นเดิม แต่จุดที่น่าสนใจจะเห็นว่า BAY เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สามารถรักษาผลงานได้โดดเด่นสุด คือ มีอัตรากำไรสุทธิ สูงกว่า 20% ซึ่งสูงกว่าธนาคาอื่นๆ ในขนาดเดียวกันที่ทำอัตรากำไรสุทธิ ประมาณ 15%

แต่ทั้งนี้โดยรวมแล้วหุ้นธนาคารล้วนมีกำไรสุทธิในปี 2563 ปรับลดลง ยกเว้น TMB เพียงแห่งเดียวที่รายงานกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 40% ซึ่งเกิดจากรายการพิเศษของการควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาตนั่นเอง

วิเคราะห์หุ้นธนาคาร ปี 2564 น่าลงทุนไหม ?

ตอนนี้มี 2 ปัจจัยหลักๆ ที่กดดนหุ้นธนาคารอยู่ ประการแรก คือ “เงินสำรอง” ที่ยังคงต้องตั้งอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งปัจจุบันทั้ง 10 ธนาคาร ตั้งสำรองรวมกันถึง 240,000 ล้านบาท ซึ่งการตั้งสำรองส่งผลต่อกำไรสุทธิสุทธิโดยตรง แต่ในอีกแง่หากมีการลดคำนวณเงินตั้งสำรองลง ก็จะเป็นกำไรกลับเข้ามาทันทีเช่นกัน 

ประการที่สอง คือเรื่อง “หนี้เสีย” (NPL) ที่แม้ตอนนี้ตัวเลขยังไม่ได้กระโดดขึ้นมาก โดยรวมกันอยู่ที่ 530,000 ล้านบาท แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ตาม มุมมองส่วนตัวแล้วคิดว่า NPL ของธนาคารตอนนี้อยู่ในระดับที่จัดการได้ เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว ประกอบกับสัดส่วนสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือก็ลดลงอย่างมาก 

หากลองมาดูมุมมองในฝั่งนักวิเคราะห์กันบ้าง โดยบทวิเคราะห์ KSecurities ได้ปรับเพิ่มมุมมองต่อกลุ่มธนาคารเป็น “บวก” มากขึ้น เพื่อสะท้อนภาพรวม NPL ที่ดีกว่าคาด และเชื่อว่าราคาหุ้นธนาคารจะค่อยๆ ปรับเพิ่มมาซื้อขายกันในระดับ P/BV ที่ 0.75 – 0.80 เท่า จากปัจจุบันที่ระดับ 0.66 เท่า 

โดยเลือกหุ้นเด่น “กลุ่มธนาคาร” 3 ตัว ได้แก่ KTB ราคาเป้าหมาย 15 บาท/หุ้น KKP ราคาเป้าหมาย 72 บาท/หุ้น และ SCB ราคาเป้าหมาย 117 บาท/หุ้น

สุดท้ายนี้… ลองนำข้อมูลที่ผมได้รวบรวมมาฝากไปทำการบ้านเพื่อวิเคราะห์หุ้นธนาคารต่อกันกันอีกทีครับ เพราะหุ้นธนาคารแต่ละตัวก็มีลักษณะเฉพาะ และจุดเด่นที่แตกต่างกันไป

หมายเหตุ | บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำหรือแนะนำให้ซื้อ ถือหรือขายหุ้นแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน