COVID-19

‘สวีเดน’ เริ่มวิจัย ทำไมผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น

“สวีเดน” วิจัย ทำไมผู้ป่วยโควิด-19 สูญเสียประสาทสัมผัสรับกลิ่น คาดอาจเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า อีก 6 เดือนสรุปผล

บทความออนไลน์จากสถานีโทรทัศน์เอสวีที (SVT) ของสวีเดนระบุว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ในสวีเดนหวังว่าการเปรียบเทียบภาพถ่ายสมองของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ถ่ายไว้ก่อนและหลังการติดเชื้อ อาจช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์สูญเสียประสาทสัมผัสรับกลิ่น ซึ่งกำลังกลายเป็นหนึ่งในอาการพื้นฐานของผู้ป่วยโรคโควิด-19

วิจัย โควิด จมูกไม่ได้กลิ่น

“เราเชื่อว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 ราว 50-70% มีปัญหาเกี่ยวกับประสาทสัมผัสรับกลิ่น ผลการประเมินชี้ว่ามีชาวสวีเดนป่วยโรคโควิด-19 ราว 5 แสนราย ซึ่งสัดส่วนเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาถาวรได้” โยฮัน ลุนด์สตรอม นักวิจัยและอาจารย์อาวุโสของสถาบันคาโรลินสกา (Karolinska Institutet) กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ SVT

ลุนด์สตรอมกล่าวว่าโรคโควิด-19 ทำลายเซลล์ค้ำจุนของประสาทสัมผัสรับกลิ่น ซึ่งคณะนักวิจัยเชื่อว่าเชื้อไวรัสฯ จะเกาะอยู่ที่ส่วนการรับกลิ่นของสมองที่เรียกว่ากระเปาะรับกลิ่น (olfactory bulb) ผ่านเส้นประสาทการรับกลิ่น

การศึกษาครั้งนี้จะตรวจสอบตามทฤษฎีข้างต้นกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 20 ราย ซึ่งเคยเข้ารับการสแกนสมองด้วยการถ่ายภาพคลื่นสนามแม่เหล็กก่อนเกิดโรคระบาด โดยคณะนักวิจัยจะสแกนสมองของพวกเขาอีกรอบเพื่อเปรียบเทียบกับภาพสแกนชุดเก่าดังกล่าว

ลุนด์สตรอมกล่าวว่าการสูญเสียประสาทสัมผัสรับกลิ่น ซึ่งดูเหมือนจะพบบ่อยในหญิงสาวที่ป่วยโรคโควิด-19 มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาอื่นๆ อาทิ น้ำหนักตัวลดลงอย่างมาก โดยผู้ป่วยโรคโควิด-19 มักจะบริโภคน้ำตาลและอาหารไขมันสูงเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยการสูญเสียการรับกลิ่น นอกจากนั้นอาการดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า หากไม่ได้รับการรักษาให้หายเป็นปกติ

“เราไม่ทราบแน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุ แต่ทฤษฎีหนึ่งระบุว่า ส่วนหนึ่งของสมองที่ประมวลผลการรับกลิ่นได้รับผลกระทบจากภาวะซึมเศร้าด้วย” ลุนด์สตรอมกล่าว

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าคณะนักวิทยาศาสตร์จะได้รับผลการศึกษาชุดแรกภายใน 6 เดือน

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo