Business

เตรียมใจหรือยัง? 16 ก.พ. นี้ ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ เริ่มเก็บค่าโดยสาร 104 บาท

เตรียมใจหรือยัง? วันที่ 16 ก.พ. “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” เริ่มเก็บ ค่าโดยสาร 104 บาทตลอดสาย “กทม.” ย้ำแล้วย้ำอีก ราคาเหมาะสมแล้ว!

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “รถไฟฟ้า BTS” จะปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร จากสูงสุด 59 บาทต่อเที่ยวในปัจจุบัน เป็น 104 บาทต่อเที่ยว

อัตราค่าโดยสารดังกล่าวนับเป็นภาระอันหนักอันอึ้งสำหรับกระเป๋าคนกรุงส่วนใหญ่ แต่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวก็ยืนยันว่า จำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร เพื่อนำเงินมาจ่ายให้เอกชน โดยปัจจุบัน กทม. ติดหนี้ค่าเดินรถเครือบีทีเอส (BTS) อยู่เกือบ 9 พันล้านบาทและยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจ่ายเงินคืนอย่างไร

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ค่าโดยสาร

“กทม.” ย้ำอีกครั้ง! ค่าโดยสาร BTS เหมาะสมแล้ว

ล่าสุด กทม. ก็ได้ออกมายืนยันอีกครั้งว่า ค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่จะเรียกเก็บจำนวน 104 บาทต่อเที่ยวตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป มีความเหมาะสมแล้ว

โดยนายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม. ทยอยเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนต่อขยาย) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2561 และเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 โดยในช่วงทดลองเปิดให้บริการ กทม. ไม่ได้เรียกเก็บค่าโดยสารมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน

เมื่อเปิดให้บริการเดินรถเต็มทั้งระบบแล้ว ประกอบกับ กทม. มีภาระค่าใช้จ่ายในการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จึงจำเป็นต้องเริ่มเรียกเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายสายสีเขียว ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

124252511 3398910900185927 269352446285798603 o

ด้านผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ส่วนหลัก) ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ ยังคงเสียค่าโดยสารในอัตราเดิมและประชาชนจะจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว ในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างส่วนหลักและส่วนต่อขยาย

ทั้งนี้ ถ้าคำนวณอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดตลอดสายจะรวมเป็นเงิน 158 บาท แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 กทม. จึงปรับลดอัตราค่าโดยสารสูงสุดตลอดสายลงมาอยู่ที่ 104 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ กทม. จะมีผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายประมาณปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยเมื่อนับรวมตั้งแต่ปี 2564 – 2572 จะมีผลขาดทุนรวมประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมา กทม. ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน จากการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยได้ศึกษาแนวทางการดำเนินการต่างๆ ซึ่งเห็นว่า แนวทางการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้ กทม. สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชนมากเกินไปและจะทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพต่อไป

สำหรับส่งข่าวครับ ๒๑๐๑๑๒ 1

“กทม.” แบกหนี้ “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” 1.2 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน กทม. มีภาระหนี้สินจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 120,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย

  • ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท และภาระดอกเบี้ยในอนาคตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
  • ค่าลงทุนในงานระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายที่ 2 ประมาณ 20,000 ล้านบาท
  • ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่าย อีกประมาณ 9,000 ล้านบาท
  • ภาระผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายในอนาคตตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมา กทม. พยายามเสนอวิธีแก้ปัญหา ด้วยการขยายสัญญาสัมปทานให้ BTS เพื่อแลกกับการที่ BTS จะมารับภาระหนี้ 120,000 บาทแทน กทม. และยังแบ่งรายได้จากค่าโดยสารหลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท โดย กทม. อ้างว่าแนวทางนี้จะทำให้สามารถปรับลดค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว เหลือ 65 บาทตลอดสาย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ครม. ยังไม่เห็นชอบการขยายสัญญาสัมปทานให้ BTS ตามที่ กทม. เสนอ ด้านกระทรวงคมนาคมก็ออกโรงคัดค้านการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวอัตราใหม่ 104 บาท และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคมก็ได้คัดค้านการขยายสัมทานให้เครือ BTS

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo