Digital Economy

เปิดอนาคต ‘FoodTech’ อุตสาหกรรมที่ถูกคาดหมายว่าจะใหญ่กว่าดิจิทัล 3 เท่า

นายกระทิง พูนผล Managing Partner ของ 500 TukTuks และ Founder ของ ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์
นายกระทิง พูนผล Managing Partner ของ 500 TukTuks และ Founder ของ ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์

ภายใต้การจับมือของไมเนอร์กรุ๊ปกับดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ และ 500 TukTuks สร้าง “Minor Tasting The Future – Hackathon 2018” กิจกรรมแฮกกาธอนครั้งใหญ่ขึ้นมา สิ่งที่ถูกย้ำบนเวทีหลายครั้งเกี่ยวกับมุมมองของไมเนอร์กรุ๊ปคือการบอกว่าต้องการให้เวทีนี้เป็นโอกาสให้เหล่า “Disruptor” ได้แจ้งเกิด และเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหาร

แต่อีกหลายความจริงที่อยู่เบื้องหลังการจัดงานครั้งนี้ก็คือ ตลาดของ FoodTech ไม่ได้เล็กเลย มีการคาดการณ์จาก Research and Markets ระบุว่า ภายในปี 2565 ตลาดด้าน FoodTech จะมีมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์

bbb

การคาดการณ์นี้ส่วนหนึ่งมาจากการเกิดยูนิคอร์นในสหรัฐอเมริกาที่มาจาก FoodTech มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น DoorDash และ InstaCart ที่ปัจจุบันมีมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์และ 7.6 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ และเม็ดเงินลงทุนในสหรัฐอเมริกาก็กำลังไหลเข้าสู่ตลาด FoodTech อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 อยู่ที่ 290 ล้านดอลลาร์ ปี 2558 อยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ และในปีนี้ คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์

นายกระทิง พูนผล Managing Partner ของ 500 TukTuks และ Founder ของ ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ เผยว่า ที่ผ่านมา เราเห็นยูนิคอร์นด้าน FoodTech เกิดในสหรัฐอเมริกาก็จริง แต่ใช่ว่าจะเกิดในไทยไม่ได้

“เทคโนโลยีดิจิทัลจำนวนมากถูกนำมาพัฒนากับอุตสาหกรรมอาหาร เช่น Impossible Burger ที่สามารถพลิกโฉมวงการเบอร์เกอร์ด้วยการนำผักมาออกแบบใหม่ให้มีสัมผัสเหมือนเนื้อ ความลับข้างในคือสารที่ชื่อว่า ฮีม (Heme) เป็นสารสกัดจากบีทรูทที่นำมาใช้แทนเลือด เพื่อให้เบอร์เกอร์คงความอร่อยได้เหมือนใช้เนื้อสัตว์”

ความน่าสนใจของ Impossible Burger ยังไม่จบ เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการทำปศุสัตว์เพื่อให้ได้เนื้อมาทำอาหารแล้วพบว่า Impossible Burger ใช้น้ำน้อยกว่า 74% ปล่อยก๊าซที่เป็นพิษต่อชั้นบรรยากาศโลกน้อยกว่า 87% และใช้พื้นที่น้อยกว่า 95% โดยในตอนนี้ ทีม Impossible Burger ยังพัฒนาไปสู่การสร้างเนื้อปลา และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมให้เหมือนจริงด้วยเช่นกัน

ขณะที่ในภาคการเกษตร ก็มีการนำเทคโนโลยี Visual Recognition เข้ามาแยกแยะว่าอะไรคือพืช อะไรคือวัชพืชได้แล้วถึงในสวน และใช้โดรนยิงเลเซอร์ใส่วัชพืชได้เป็นจุด ๆ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องพ่นยาฆ่าหญ้าให้เป็นอันตรายต่อพืชผัก เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย นายกระทิงมองว่า ยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่ไม่ได้นำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ โดยคิดเป็น 90% ของงานวิจัยทั้งหมด ซึ่งถือว่าเยอะมาก

อย่างไรก็ดี ขนาดของประเทศไทยอาจยังไม่เพียงพอต่อการสร้างยูนิคอร์น โดยในมุมของนายกระทิงมองว่า อาจสามารถสร้างสตาร์ทอัพระดับเซนทอร์ (Centaur) ได้เท่านั้น ดังนั้นการจะเกิดเป็นยูนิคอร์นได้จึงอาจต้องมองภาพของการเป็น Regional Player หรือก็คือออกไปเติบโตในระดับภูมิภาคด้วย

สำหรับการจะเติบโตไปสู่ยูนิคอร์นในสาย FoodTech ได้นั้น นายกระทิงมองว่า สิ่งที่ต้องใส่ใจมี 3 ข้อ นั่นคือ

  • HyperConvenience
  • Privilege
  • Connectivity

เหตุเพราะคนรุ่นมิลเลนเนียล เป็นกลุ่มที่ใส่ใจในสามข้อนี้เป็นพิเศษ และพวกเขาคือกำลังซื้อคนสำคัญ พร้อมยกตัวอย่าง CafeX ร้านกาแฟที่ใช้แขนกลชงกาแฟแทนการใช้แรงงานมนุษย์ โดยหุ่นยนต์ชงกาแฟเพียง 20 วินาทีต่อแก้วเท่านั้น แต่ประสบการณ์โดยรวมของ CafeX ยังเอื้อต่อทั้ง HyperConvenience, Privilege และ Connectivity นั่นคือ ผู้ซื้อสามารถซื้อได้ผ่านแอพ และเมื่อมาถึงบูธกาแฟ ก็สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ได้ เช่น ถ้ากาแฟชงเสร็จแล้ว หุ่นยนต์จะกวักมือเรียกให้เข้าไปรับแก้วกาแฟนั่นเอง

“โลกของเรากำลังก้าวเปลี่ยนผ่านจากยุค ดิจิทัล ดิสรัปท์ชั่น (Digital Disruption) เข้าสู่ยุค ดีพเทค ดิสรัปท์ชั่น (Deep Tech Disruption) โดยเทคโนโลยีดีพเทคนั้น เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทต่อโลกในยุคปัจจุบัน ต่อจากเทคโนโลยีดิจิทัล และจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออก ในส่วนของระบบดีพเทคนั้น ฟู๊ดเทค (Food Tech) เป็นหนึ่งในส่วนที่มีความน่าตื่นเต้นที่สุด โดยคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 16,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโต 20% ต่อปี ภายในปี 2563 ซึ่งการเติบโตนี้จะเข้ามาปฏิวัติ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดจากผู้ส่งมอบ (Supplier) ไปจนถึงผู้บริโภค หรือจากต้นทางสู่ปลายทาง (From Farm To Fork) อย่างมาก” นายกระทิงกล่าวปิดท้าย

Avatar photo