Lifestyle

เปิด 5 กลุ่มเสี่ยง ‘ปอดอักเสบ’ แนะ 7 วิธีป้องกัน สกัดอาการแทรกซ้อน

กรมการแพทย์เผย 5 กลุ่มเสี่ยง พบ ปอดอักเสบ แนะ 7 วิธีป้องกัน ลดความเสี่ยง อาการแทรกซ้อน ควรดูแลสุขภาพ และสุขอนามัย สร้างระบบภูมิคุ้มกัน ให้แข็งแรง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปอดอักเสบ ที่พบได้บ่อยคือ ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ ส่วนใหญ่เกิดจาก การรับเชื้อในชุมชน ได้แก่ เชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา โดยเชื้อจะเข้าสู่ปอด ทำให้เกิดการอักเสบของ ถุงลมปอด และเนื้อเยื่อโดยรอบ

ปอดอักเสบ

ทั้งนี้ ปอดอักเสบสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อย ในผู้มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน หอบหืด
  • ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เข่น ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
  • ผู้ป่วยมะเร็ง ที่อยู่ระหว่างการให้ เคมีบำบัด หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นเวลานาน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่

การเกิดปอดอักเสบ สามารถรับเชื้อได้จากการไอจาม หรือหายใจรดกัน ซึ่งจะเอาเชื้อที่อยู่ในรูปละอองฝอยขนาดเล็กเข้าสู่ปอด การสำลักเชื้อ ที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ลงสู่ปอด เช่น สำลักน้ำลาย อาหาร หรือสารคัดหลั่ง การแพร่กระจายของเชื้อ ตามกระแสโลหิต และการลุกลาม จากการติดเชื้อของอวัยวะข้างเคียง สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ 1
สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

อาการของผู้ป่วย จะมีอาการ ไอ มีเสมหะ เจ็บหน้าอกขณะหายใจ หรือไอ มีไข้ เหงื่อออกมาก หายใจลำบาก หอบ คลื่นไส้อาเจียน หนาวสั่น

ทั้งนี้ ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การหายใจล้มเหลว ไตวายเฉียบพลัน หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการรุนแรง จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ด้าน นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาปอดอักเสบ เป็นการรักษาร่วมกับการป้องกันภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งแพทย์ จะรักษาผู้ป่วยด้วยวิธี ดังนี้

1. ให้ยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย

2. รักษาแบบประคองอาการ สำหรับโรคที่ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง เช่น การติดเชื้อRSV

3. การรักษาภาวะแทรกซ้อน มักเกิดในกรณีของกลุ่มเสี่ยง ที่มีอาการรุนแรงมาก เช่น ภาวะหายใจล้มเหลว

สมเกียรติ ลลิตวงศา
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา

ดังนั้น การป้องกันโรค จึงมีความสำคัญ เพื่อหลีกเลี่ยง และลดความเสี่ยง การเกิดโรคปอดอักเสบ ได้แก่

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ในกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่มดังกล่าว เพื่อลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบ จากการติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อน

วัคซีนป้องกันที่ใช้บ่อย คือ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ฉีดทุกปี ก่อนฤดูฝน และฤดูหนาว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกัน

ปัจจุบัน วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ มี 2 ชนิด คือ วัคซีนแบบโพลีแซคคาไรด์ สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง และผู้สูงวัย และวัคซีนแบบคอนจูเกต สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 สัปดาห์ – 5 ปี ผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

  • ไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่จะทำลายกระบวนการป้องกันในระบบทางเดินหายใจ
  • ดูแลสุขอนามัยทั่วไป เช่น ล้างมือ หลีกเลี่ยงการไปอยู่ ในบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสีย หรืออากาศเย็น
  • เมื่อเป็นหวัด ควรรักษาให้หายขาด
  • ไม่ดื่มเหล้า
  • สร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo