COLUMNISTS

รถไฟสายปรารถนาของพล.อ.ประยุทธ์

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
829

หนึ่งในผลงานรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อ้างถึงเสมอด้วย ความภาคภูมิใจ คือ ความก้าวหน้าของระบบราง ในช่วง 4 ปีของรัฐบาล

ประยุทธ์ 38 รถไฟฟ้า

ต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระหว่าง ตรวจจุดเชื่อมต่อ ล้อ ราง เรือ ตอนหนึ่งว่า  “เดิมทำมาหลายปีได้ไม่กี่ร้อยเมตร รัฐบาลนี้อยู่มา 4 ปีทำไปกว่า 2,000 กิโลเมตร ต่อไปอีกระยะหนึ่งจะมีกว่า 4,000 กิโลเมตร”  (ไทยรัฐ 6 ตุลาคม 2561)

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลประยุทธ์ จริงจังกับการยกระดับระบบราง ตามยุทธศาสตร์ลดต้นทุนขนส่งของประเทศมาก โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ

  • กลุ่มหนึ่ง เพิ่มทางรถไฟเป็นทางคู่ ที่กล่าวถึงข้างต้น รวม 2 เฟส ระยะทาง ราว 3,100 กม.
  • กลุ่มสอง รถไฟฟ้าในเมือง ปัจจุบันมีระยะทาง 104.7 กม.จาก 6 สายทาง คาดว่าจะเพิ่มเป็นกว่าเท่าตัวในสามสี่ปีข้างหน้า จากโครงการที่กำลังก่อสร้างและรอประมูล
  • กลุ่มสาม รถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง เส้นทางที่คืบหน้า คือ กรุงเทพฯ-หนองคายซึ่งเดิมเรียกรถไฟไทย-จีน ระยะทาง 250 กม. มูลค่าโครงการ 1.79 แสนล้านบาท ที่พล.อประยุทธ์ งัดมาตรา 44 ตัดโครงการเป็น 2 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และ นครราชสีมา-หนองคาย และตัดสินใจลงทุนเองหลังแผนเจรจา ดึงจีนมาร่วมทุนไม่สำเร็จโดย เริ่มต้น ก่อสร้างแบบผ่อนส่งทำช่วงแรก 3.5 กม.

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-ญี่ปุ่น สองฝ่ายคุยกันมาหลายรอบ แต่ยังไม่คืบหน้า ล่าสุดสื่อรายงาน อาคม เติมพิทยไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เตรียมบินไปหารือกับญี่ปุ่นว่าจะสรุปกันอย่างไร

แต่โครงการที่สร้างฮือฮาระดับโลก คือ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง) และโยงเข้ากับโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระยะทาง รวม 220 กม.มูลค่าโครงการเบื้องต้น 2.1 แสนล้านบาท และมีผู้สนใจร่วมยื่นซองประมูล 31 ราย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยบอกว่า ระบบรางที่กำลังพัฒนากันในปัจจุบันรวมกันทุกระบบมีระยะทางราว 4,000 กม.จะเพิ่มเป็น 7,000 กม.ในปี 2565 สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปี

แม้มีคำถามจากบางมุมของสังคม เรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนักในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จะนำไปสู่ภาวการณ์ลงทุน เกินตัวที่จะส่งผลต่อความสามารถทางการเงินของประเทศหรือไม่

แต่เสียงขานรับกลับดังกว่า เพราะโครงการระบบรางช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ คอนโดมิเนียมที่ผุดเป็นดอกเห็ดตามแนวรถไฟฟ้า หรือกระแสตื่นอีอีซี โครงการที่ชวนให้คนฝันถึงความมั่งคั่งจากมูลทรัพย์สินในมือที่เพิ่มขึ้น แม้เม็ดเงินยังไม่สะพัดก็ตาม คือผลที่ตามมาจากการพัฒนาโครงการระบบรางหลายพื้นที่ในช่วงที่

สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปกำกับการแสดง ที่กระทรวงคมนาคม ให้เร่งนำโครงการรถไฟทางคู่รถไฟฟ้า ที่ค้างรอพิจารณา เข้าครม. โดยเร็ว และยังกำชับให้เร่งโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย เฟสสอง ( นครราชสีมา-หนองคาย) เพื่อจะได้เชื่อมต่อกับ รถไฟลาว-จีน ที่สร้างมาถึงชายแดนแล้ว

มือเศรษฐกิจของรัฐบาล คงตระหนักดีว่า ผลงานจากระบบรางที่จับต้องได้ จะนำไปสู่รถไฟอีกขบวน รถไฟขบวนนี้บรรทุกความ ปรารถนามาเต็มโบกี้ และจะเป็นพาหนะที่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี หวังใช้โดยสารกลับมาทำเนียบอีกครั้ง หลังประกาศต่อสาธารณชนว่า “ผมสนใจงานการเมือง” เพื่อสานต่องานที่ได้ทำเอาไว้

ตั๋วรถไฟในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถือขึ้นรถไฟสายปรารถนา จะเป็น ตั๋วเที่ยวเดียว หรือ ไปกลับ เลือกตั้งต้นปีหน้าได้รู้กัน