Politics

มท. สั่งคุมเข้ม ‘ชายแดนเมียนมา’ ห้ามกลุ่มใดใช้ไทยเคลื่อนไหวหลัง ‘รัฐประหาร’

“มท.” สั่งเข้มงวด “ชายแดนเมียนมา” ห้ามกลุ่มใดใช้ประเทศไทยเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังเกิดเหตุ “รัฐประหาร”

วันนี้ (1 ก.พ.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัด กระทรวงมหาดไทย (มท.) เปิดเผยว่า เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามสถานการณ์ของพื้นที่

ชายแดนเมียนมา รัฐประหาร

ห้ามเคลื่อนไหวการเมือง!

มท. จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนด้านเมียนมาพิจารณาเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่ชายแดนและดำเนินการตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตามแนวชายแดน รวมทั้งให้เป็นไปตามมาตรการและแนวทางปฏิบัติของการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยเคร่งครัด

นอกจากนี้ จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินการในการป้องกันการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของพื้นที่ พร้อมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่อำเภอชายแดนเพิ่มการเฝ้าระวัง ติดตามข่าวสารและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนที่อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองมากขึ้น และการไม่อนุญาตให้กลุ่มหนึ่งกลุ่มใดใช้ดินแดนประเทศไทยเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยการสู้รบกับเมียนมา เพิ่มความเข้มงวดการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่พักพิง และติดตามความเคลื่อนไหวของผู้หนีภัยการสู้รบฯ ในพื้นที่พักพิงที่อาจเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมือง โดยให้รายงานข้อมูลสถานการณ์และผลดำเนินการที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงมหาดไทยทราบด้วย

พม่า02

ย้อนรอย “รัฐประหาร” เมียนมา

คำสั่งคุมเข้ม ชายแดนเมียนมา ของกระทรวงมหาดไทย เกิดขึ้นหลังจากช่วงเช้ามืดวันนี้ (1 ก.พ.) กองทัพเมียนมาได้ก่อ รัฐประหาร โดยเข้าควบคุมตัวนางซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และแกนนำพรรคหลายคน

กองทัพเมียนมาประกาศคุมอำนาจภายใต้ภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี ด้วยเหตุผลว่า การเลือกตั้งแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 มีการทุจริตเป็นวงกว้าง โดยให้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เป็นผู้นำสูงสุด และให้ พล.ต.มิน ฉ่วย รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดเผยว่าได้ดำเนินการควบคุมตัวผู้นำระดับสูงของรัฐบาล เพื่อตอบโต้การฉ้อโกงระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว

สำหรับ เมียนมา หรือ พม่า ในอดีตนั้น หลังจากตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาตั้งแต่ปี  2367 นั้น ในปี 2484-2486 กลุ่ม 30 สหาย หรือตรีทศมิตร (BIA) ภายใต้การนำของนายอองซาน ร่วมกับกองทัพญี่ปุ่น ปลดปล่อยพม่า จากอังกฤษ

ต่อมาญี่ปุ่น เข้าปกครองพม่า และรัฐฉาน และนายอองซาน ได้ขึ้นเป็นนายพล พร้อมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม กระทั่งญี่ปุ่นให้เอกราชแก่พม่า

ในปี 2488 อังกฤษกลับมายึดครองพม่าอีกครั้ง นายพลอองซานจัดตั้งสันนิบาตเสรีชน ต่อต้านฟาสซิสต์ พร้อมตัดความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น  อีก 2 ปีต่อมา ในปี 2490 อังกฤษลงนามคืนเอกราชให้พม่า ในสนธิสัญญา “แอตลี่อองซาน” นายพลอองซานเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของ “สหภาพพม่า” ลงนามข้อตกลง ที่เวียงปินหล่ง ยอมให้ชนกลุ่มน้อยในพม่าแยกตัวเป็นอิสระได้ ภายหลังรวมกับพม่าครบ 10 ปี

เมียนมา

เดือนกรกฎาคม 2490  นายพลอองซานถูกบุกยิง เสียชีวิตที่อาคารรัฐสภา จากฝีมือของอู ซอ อดีตกลุ่ม 30 สหาย ก่อนที่ในเวลาต่อมานายพลอองซาน จะได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งเอกราชของพม่า”

วันที่ 4 มกราคม 2491 พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษอย่างเป็นทางการ หลังถูกปกครองอยู่ถึง 63 ปี โดยมี อู นุ ซึ่งเป็นอดีตกลุ่ม 30 สหาย ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรก ต่อมาในปี 2500 อู นุ ปฏิเสธไม่ให้ชนกลุ่มน้อยแยกตัวเป็นอิสระตามข้อตกลง ที่เวียงปินหล่ง จึงเกิดกบฏชนกลุ่มน้อยเผ่าต่าง ๆ ตามแนวชายแดนขึ้นมา

อีก 5 ปีต่อมา นายพลเนวิน 1 ในกลุ่ม 30 สหายก่อ รัฐประหาร วันที่ 2 มีนาคม 2505 จากนั้นประกาศปกครองพม่าแบบเผด็จการสังคมนิยม พร้อมปิดประเทศ ไม่ติดต่อกับโลกภายนอก และเป็นจุดเริ่มต้น ที่กองทัพพม่าเข้าปกครองประเทศนานถึง 26 ปี

ก่อนที่ในวันที่ 18 กันยายน 2531 จะเกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งประวัติศาสตร์ “8.8.88” ที่กองทัพพม่า ปราบปราม กวาดล้างประชาชน ที่ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และถูกจับกุมเป็นจำนวนมาก

เมียนมา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ รัฐบาลนายพลเนวินประกาศจัดตั้ง “สภาฟื้นฟูกฎระเบียบของชาติ” หรือ “สลอร์ค” (SLORC) โดยสัญญาว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย  และในปีเดียวกันนี้ “อองซาน ซูจี” ก็ประกาศตั้งพรรค NLD ขึ้นมา

แม้กองทัพพม่าจะยอมทำตามสัญญา จัดการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ในปี 2533  ซึ่งพรรคของซูจีได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่สภาสลอร์คไม่ยอมรับ และไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน พร้อมสั่งกักบริเวณนางซูจีในบ้านของตนเอง

บทบาทการเป็นผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศบ้านเกิดทำให้ ในปี 2534 ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปรับรางวัล จากนั้นในปี 2535 สลอร์คประกาศเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจจากพุทธสังคมนิยม มาเป็นกึ่งเสรีตามแนว ทุนนิยม เปิดประเทศต้อนรับนักลงทุน นักท่องเที่ยว และเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “พม่า” เป็น “เมียนมา”

ปี 2538 รัฐบาลทหารเมียนมา ยอมให้อิสรภาพแก่ ซูจี หลังจากกักบริเวณมาเป็นเวลาถึง 6 ปี  จากนั้นในปี 2540 รัฐบาลทหาร เปลี่ยนชื่อ “สภาฟื้นฟูกฎระเบียบของชาติ” เป็น “สภาแห่งสันติภาพและการพัฒนาประเทศ” มี พล.อ.ตาน ฉ่วย เป็นประธานสภา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนายกรัฐมนตรี

21 กันยายน 2543 ซูจี ถูกกักบริเวณ โดยไม่มีการระบุข้อกล่าวหา และความผิด เป็นครั้งที่ 2 นาน 18 เดือน โดยเธอได้รับอิสรภาพ จากการกักบริเวณครั้งนี้ในเดือนพฤษภาคม ปี 2545

jpeg

วันที่ 10 พฤษภาคม 2551 พล.อ.ตาน ฉ่วย  จัดทำประชาพิจารณ์ ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิลงประชามติ รับร่างรัฐธรรมนูญ

ปี 2553  มีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ภายใต้รัฐธรรมนูญปี  2553 โดยพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากกองทัพเมียนมาได้รับชัยชนะ โดยมี พล.อ.เต็ง เส่ง ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกจากรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ

การเลือกตั้งในอีก 5 ปีต่อมา พรรคเอ็นแอลดี ของซูจี สามารถคว้าชัยชนะมาครองได้ ได้ที่นั่งในสภาไปทั้งหมด 880 ที่ หรือ 77.3% จากทั้งหมด 1,139 ที่นั่ง แต่ซูจี ในฐานะหัวหน้าพรรค NLD กลับไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เนื่องจากมีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไม่ให้ผู้ที่มีคู่สมรส และบุตร เป็นชาวต่างชาติดำรงตำแหน่งนี้ โดยสามีของซูจี คือ ไมเคิล อริส และบุตรของเธออีก 2 คน ถือสัญชาติอังกฤษ

ล่าสุด การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 พรรค NLD ของซูจีก็กวาดชัยชนะได้อย่างถล่มทลายอีกครั้ง  ได้ไป 920 ที่นั่ง ขณะที่พรรค USDP ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั้งหมด 1,089 คน และได้รับเลือกเพียง 71 คน สำหรับสภาทั้ง 3 ระดับ โดยแบ่งเป็น 26 ที่นั่งในสภาล่าง 7 ที่นั่งในสภาสูง และ 38 ที่นั่งในสภาภูมิภาคและรัฐ

อย่างไรก็ดี USDP และกองทัพเมียนมา ไม่ยอมรับผลเลือกตั้งดังกล่าวหา โดยกล่าวหาว่าเกิดการทุจริตเป็นวงกว้าง และเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบผลการเลือกตั้ง และดำเนินการตามกฎหมาย และระบุว่า หากไม่ทำตาม กองทัพมีแผนการจะตอบโต้ ก่อนที่จะนำมาซึ่งการก่อ รัฐประหาร สะเทือนโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo