Business

‘แมรีกอท บางปู’ ชดเชยพนักงานแล้ว 470 ล้าน ‘ประกันสังคม’ พร้อมเข้าเยียวยาว่างงาน

“แมรีกอท บางปู” โอนเงิน 470 ล้านจ่ายชดเชยพนักงาน 1.6 พันคนเรียบร้อย ด้าน “ประกันสังคม” เตรียมเข้าตรวจสอบเยียวยาว่างงานตามสิทธิ์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายและเงินช่วยเหลือพิเศษ กรณีบริษัท แมรีกอท จิวเวลรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ยุติการดำเนินกิจการที่สำนักงานสาขาบางปู และขอความร่วมมือลูกจ้างทั้งหมดย้ายไปปฏิบัติงานที่สำนักงานแห่งใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้นว่า

ประกันสังคม แมรีกอท บางปู

รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานทำงานเชิงรุก เข้าไปติดตามผลการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างในยามวิกฤติ เพื่อติดตามเงินชดเชยทั้งที่นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและดำเนินการในทุกมิติ

จากการติดตามการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย และเงินช่วยเหลือพิเศษล่าสุดได้รับแจ้งจากแผนกทรัพยากรมนุษย์ ของบริษัท แมรีกอท จิวเวลรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ที่บริษัทได้มอบหมายให้ดำเนินการ ในวันที่ 30 มกราคม 2564 ว่า บริษัทได้จ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายและเงินช่วยเหลือพิเศษ โดยโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารของชื่อลูกจ้างทุกคนเรียบร้อยแล้ว รวมจำนวนเงินทั้งสิ้น 470,628,497 บาท และขณะนี้ลูกจ้างสามารถถอนเงินดังกล่าวได้แล้ว

ด้านนางสาวโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เข้าไปช่วยเหลือดูแลพูดคุยกับลูกจ้างและนายจ้างในสถานประกอบการ โดยนายจ้างยืนยันว่าไม่ได้เลิกจ้างลูกจ้าง แต่ขอความร่วมมือให้ลูกจ้างทั้งหมดย้ายไปปฏิบัติงานที่สำนักงานแห่งใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากบริษัทสาขาบางปูได้รับผลกระทบมียอดสั่งซื้อสินค้าลดลง จึงต้องปรับแผนธุรกิจไปยุบรวมกับสำนักงานที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีลูกจ้างที่ประสงค์จะย้ายไปทำงานที่ใหม่จำนวน 101 คน

สำหรับลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะย้ายไปจำนวน 1,610 คน บริษัทจะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เงินโบนัสประจำปี ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินช่วยเหลือพิเศษนอกเหนือกฎหมาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 470 ล้านบาท

ในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงาน ประกันสังคม จังหวัดสมุทรปราการ จะเข้าไปตรวจสอบเพื่อจ่ายเยียวยาสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานให้พนักงานบริษัท แมรีกอท บางปู และสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรปราการเตรียมตำแหน่งงานว่างรอบรับกว่า 1,000 อัตรา

นอกจากนี้ ฝ่ายบุคคลของบริษัทแจ้งว่า มีสถานประกอบการที่ดำเนินกิจการลักษณะเดียวกันแสดงความประสงค์ที่จะรับลูกจ้างของบริษัทแมรีกอทฯ ด้วย เนื่องจากลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือในการผลิตจิวเวลรี่

ขณะที่ลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะย้ายไปทำงานที่ใหม่ กล่าวว่า ทำงานกับบริษัทแห่งนี้มานานหลายปี และมีแผนอยู่แล้วที่จะขอเกษียณที่นี่ ซึ่งเป็นช่วงพอดีที่บริษัทมีแผนย้ายไปประกอบกิจการที่แห่งใหม่ สิ่งที่บริษัทให้มาถือว่าคุ้มค่ามากพอแล้วเพราะเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและคิดว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้ดำเนินชีวิตต่อที่บ้านเกิด และลูกจ้างบางส่วนที่ไม่ประสงค์ย้ายไปที่แห่งใหม่บริษัทยังได้ฝึกอบรมอาชีพให้เพื่อนำความรู้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพต่อไป

shutterstock 1659753442

“พนักงาน-ลูกจ้าง” ได้อะไรจาก “ประกันสังคม” บ้างช่วงโควิด-19 ระบาด?

ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบกองทุนประกันสังคม คือกลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 11 ล้านคนทั่วประเทศ โดย กองทุนประกันสังคม ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์และเงินทดแทนกรณีต่าง ๆ ของมาตรา 33 ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ระบาด ดังต่อไปนี้

  • ลดเงินสมทบเหลือ 0.5-3

กองทุนประกันสังคมได้ลดเงินสมทบให้นายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ในเดือนมกราคม 2564 จากปกติต้องจ่าย 5% ของค่าจ้างหรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 3% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 450 บาทต่อเดือน และในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 จะได้รับลดหย่อยเหลือ 0.5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 75 บาทต่อเดือน

  • จ่ายเงินทดแทน 50% ในกรณีว่างงาน (ชั่วคราว) เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19

ปี 2564 ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนกรณีว่างงาน (ชั่วคราว) จากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนดังกล่าวไม่เกิน 90 วันภายใน 1 ปี สำหรับเงื่อนไขเป็นดังนี้

1.เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนย้อนหลัง

2.ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจากไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือนายจ้างต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคำสั่งของราชการ

3.ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

  • จ่ายเงินทดแทน 70% กรณีถูกเลิกจ้าง

กรณีว่างงาน เพราะถูกเลิกจ้าง ประกันสังคม มาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างรายวัน ปีละไม่เกิน 200 วัน จากเดิมกองทุนฯ จ่ายเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 180 วันต่อปี

  • จ่ายเงินทดแทน 45% กรณีลาออก

กรณีว่างงาน เพราะลาออกผู้ประกันตนมาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชย 45% ของค่าจ้างรายวัน ปีละไม่เกิน 90 วัน จากเดิมจะได้รับเงินชดเชย 30% ไม่เกินปีละ 90 วัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo