Lifestyle

ดึงหลักธรรมแก้ปัญหา ‘แมว’

พระมหาประยูร 3
พระมหาประยูร โชติวโร

“ดีเจสาวทารุณกรรมแมวแลกกับเงินจากเว็บใต้ดิน”  สั่นสะเทือนวงการคนรักสัตว์ โดยเฉพาะคนรักแมวมาหลายวันติดต่อกัน นอกจากโลกโซเชียลจะตามติดคดีนี้ให้รู้ที่มาที่ไปอย่างแท้จริงกันแล้ว การหันมา “ตั้งสติ”  เพื่อไปสู่หนทางของการแก้ปัญหาจากต้นตอก็น่าจะเป็นทางออกระยะยาว

พระมหาประยูร โชติวโร ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)  นำหลักธรรมมาอธิบายว่า เรื่องที่เกิดขึ้นต้องแยกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก วิเคราะห์พื้นฐานของการก่อเหตุ   โดยใช้ “สติ และสัมปชัญญะ” มาจับว่า ผู้ก่อเหตุ มีสติ หมายถึงความระลึกได้ ไม่ว่าจะคิด พูด หรือทำหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และ สัมปชัญญะ หมายถึง ความรู้ตัวหรือไม่ขณะทำมากน้อยเพียงใด

ส่วนที่สอง คนทั่วไปในสังคมที่ตามติดเรื่องนี้ ขอให้ยึดหลักธรรมของพรหม คือ พรหมวิหารธรรม หรือ  พรหมวิหาร 4 ซึ่งเป็นหลักธรรมประจำใจ เป็นหลักธรรมของ “คนเหนือคน” ในการบำเพ็ญตนให้ดำรงชีวิตอย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ ถือเป็นกฎของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น

หลักปฏิบัติ 4 ประการ

  • เมตตา คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข
  • กรุณา คือ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์
  • มุทิตา คือ ความยินดี ในเมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข
  • อุเบกขา คือ ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง

ทั้ง 4 ด้านต้องไปด้วยกันทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจในสถานการณ์ของแมวจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุดกันมากขึ้น ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า “ประชากรแมวมีเป็นจำนวนมาก” ที่เป็นปัญหาคือ แมวไม่มีเจ้าของ หรือ แมวจรจัด นั่นเอง ซึ่งจำนวนมากถูกมาปล่อยที่วัด แมวบางตัวมาเอง พระท่านเมตตา ปฏิเสธไม่ได้  บางรูปรักแมว และเลี้ยงดูไว้

ขณะที่บางรูปเมตตา แต่อาจไม่ได้ถึงขนาดเลี้ยงดู แต่อยู่กุฏิติดกัน ต้องอยู่ร่วมกัน เช่นเดียวกับญาติโยมมาวัดมีทั้งชอบ และไม่ชอบแมว เพราะเห็นว่าทำให้วัดสกปรก

แมว 1

คนทั่วไปเอง ก็มีทั้งรักแมว เฉยๆ และไม่ชอบแมวก็มี แต่ทุกคนต้องอยู่ด้วยกัน ดังนั้นจึงต้องใช้พรหมวิหาร 4 มาจับ เพื่อเมตตาต่อกัน ดูแลกัน เข้าใจกัน

ส่วนที่สาม ก็คือ หลัก “อริยสัจ 4”   หรือความจริงอันประเสริฐมีอยู่ 4 สี่ประการ คือ

  • ทุกข์  หรือ สภาพที่ทนได้ยาก ไม่เป็นที่รักที่พอใจ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น และสภาพเกิดแก่เจ็บตาย
  • สมุทัย หรือสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
  • นิโรธ หรือความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง
  • มรรค หรือแนวปฏิบัติที่นำไปสู่ความดับทุกข์

องค์ประกอบมรรค มีอยู่ 8 ประการ

  1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
  2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
  3. สัมมาวาจา  เจรจาชอบ
  4. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
  5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
  6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ
  7. สัมมาสติ ระลึกชอบ
  8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

โดยรวม เรียกว่า  “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง นำหลักอริยสัจ 4 มาเป็นทางออก  “เป็นประตู หน้าต่าง”  ทำให้ปัญหาแมวจรจัดหายไป หรือลดลงในระยะยาว และเพื่อแก้ปัญหาแบบองค์รวม นั่นหมายถึงต้องร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ และทำอย่างยั่งยืน

แต่ละชุมชนแต่ละพื้นที่ต้องมานั่งคุยกันอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหานี้ลดลง ทั้งประชาคม หน่วยงานรัฐ รวมถึงวัดด้วย

ที่สำคัญการแก้ปัญหา “ต้องไม่ใช่ถูกใจอย่างเดียว ต้องถูกต้อง และถูกธรรมด้วย”

Avatar photo