Politics

องค์กรเพื่อความโปร่งใสฯ ชี้เหตุ ‘รับสินบน-บ่อนพนัน-แรงงานผิดกม.’ ฉุดอันดับไทยร่วงอยู่ที่ ​104

ป.ป.ช.เปิดผลจัดอันดับคอร์รัปชั่น ปี 2020 ไทยได้ 36 คะแนน อยู่อันดับที่ 104 ของโลก  อันดับ 5 อาเซียน  ถูกหั่น 4 คะแนน เหตุ”รับสินบน-คอร์รัปชั่นเจ้าหน้าที่รัฐ” นักธุรกิจ-นักลงทุน  ต้องจ่ายใต้โต๊ะแลกสัญญา-สัมปทานโครงการรัฐ “คอร์รัปชั่นในระบบการเมือง” ป.ป.ช. แนะรัฐบาลแก้ปัญหาการทุจริต บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังโดยเฉพาะเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ

นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก

cover ไทยอันดับร่วงอยู่ที่ 104

โดยประเทศเดนมาร์ก และประเทศนิวซีแลนด์ ยังครองตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนสูงสุด 88 คะแนน ในขณะที่ประเทศไทยได้ 36 คะแนน เท่ากับปี 2562 จัดอยู่ในอันดับที่ 104 ของโลก (ปี 2562 จัดอยู่ในอันดับที่ 101 ของโลก) และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียนเท่ากับประเทศเวียดนาม ซึ่งประเทศสิงค์โปร ได้คะแนนสูงสุด คือ 85 คะแนน รองลงมาคือ บรูไน 60 คะแนน มาเลเซีย 51 คะแนน อินโดนีเซีย 37 คะแนน ไทยและเวียดนาม 36 คะแนน ฟิลิปปินส์ 34 คะแนน ลาว 29 คะแนน เมียนมา 28 คะแนน และกัมพูชา 21 คะแนน

ทั้งนี้แม้ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ในปี 2563 จะเท่ากับปี 2562 แต่พบว่า จากแหล่งข้อมูลทั้ง 9 แหล่ง ประเทศไทยได้คะแนนลดลง 1 แหล่ง คือ แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 41 คะแนน (ปี 2019 ได้ 45 คะแนน) ลดลง 4 คะแนน

31JAN องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ

 

โดย IMD นำข้อมูลสถิติทุติยภูมิและผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ

1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ

2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ

3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ

4. โครงสร้างพื้นฐาน

โดยมีประเด็นที่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต

 

จากแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย คือ “มีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่” ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ยังมีปัญหาการให้และรับสินบนและการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับสินบนในการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน ปัญหาสินบน จากลักลอบเข้าประเทศของแรงงานผิดกฎหมาย ถึงแม้ภาครัฐจะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการประชาชน แต่ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ยังมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ จึงเกิดปัญหาสินบนและการทุจริต  ส่งผลต่อภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศ

โดยมีสาเหตุมาจากการที่ “ผู้เข้ารับบริการต้องความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ” จึงยอมที่จะ “จ่ายสินบน” ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริตยังไม่มีประสิทธิภาพ “ถึงแม้จะมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด แต่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่าง” นอกจากนี้ กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต เช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ

คะแนนคงที่ 8 แหล่งข้อมูล ได้แก่ 1.แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 37 คะแนน (ปี 2019 ได้ 37 คะแนน) BF (TI) ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1. ด้านการเมือง 2. ด้านเศรษฐกิจ และ 3. ด้านการจัดการของรัฐบาล ทั้งนี้ BF (TI) จะมีการเผยแพร่ผลทุก 2 ปี และข้อมูลที่เผยแพร่ครั้งล่าสุดช่วงต้นปี 2563

ปปช.

ถึงแม้ว่าการประเมินจะประกอบด้วยชุดคำถามหลายข้อ แต่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ใช้คะแนนจากคำถามของ BF (TI) เพียง 2 ข้อ ในการประเมินคะแนน CPI คือ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริตและความสำเร็จของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญของ BF (TI) ในประเทศไทย

“คนคะแนนคงที่ เนื่องจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ใช้คะแนนจากรายงานการวิเคราะห์ของ BF (TI) ครั้งล่าสุด เมื่อปีที่ผ่านมา”

 

2. แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน (ปี 2019 ได้ 37 คะแนน) EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับ ความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใส ใน “การจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ” การใช้ทรัพยากรของราชการ/ส่วนรวม “การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง” มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้น ๆ มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรมตรวจสอบผู้บริหาร/ผู้ใช้อำนาจ “ธรรมเนียมการให้สินบนเพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ”

ทั้งนี้ EIU มีการสำรวจเก็บข้อมูลประมาณเดือนกันยายนของทุกปี โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญของ EIU จำนวน 2- 3 คน

“คะแนนคงที่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญของ EIU เห็นว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาไม่แตกต่างกับปี 2019 ในเรื่องความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง การตรวจสอบการจัดการงบประมาณ ตลอดจนปัญหาเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติในการให้สินบนเพื่อให้ได้สัญญา หรือสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ”

 การดำเนินธุรกิจในไทยต้องเผชิญกับการติดสินบน

3. แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน (ปี 2019 ได้ 35 คะแนน) ในแหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) มีประเด็นที่องค์การ เพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต คือ

“ความเสี่ยงของการที่บุคคลหรือบริษัทจะต้องเผชิญกับการติดสินบนหรือการคอร์รัปชันในรูปแบบอื่นเพื่อที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น เพื่อให้ได้รับสัญญาเพื่อการส่งออก นำเข้า หรือ เพื่อความสะดวกสบายเกี่ยวกับงานด้านเอกสารต่าง ๆ มีมากน้อยเพียงใด” ซึ่งถูกประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศ ซึ่งได้รับข้อมูลจากกลุ่มลูกค้า ผู้ทำสัญญากับภาครัฐ นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้รับงานอิสระ เครือข่ายนักข่าว

“คะแนนคงที่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละประเทศซึ่งได้รับข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง (กลุ่มลูกค้า ผู้ทำสัญญากับภาครัฐ นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้รับงานอิสระ และเครือข่ายนักข่าว) เห็นว่าการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการติดสินบนหรือการคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น”

 

4. แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 38 คะแนน (ปี 2019 ได้ 38 คะแนน) PERC สำรวจข้อมูลจากนักธุรกิจในท้องถิ่น และนักธุรกิจชาวต่างชาติ ที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้น ๆ ได้แก่ นักธุรกิจจากสมาคมธุรกิจ ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ในเอเชีย ผู้แทนหอการค้าประเทศต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้จัดทำ CPI 2020 เป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมข้อมูลประมาณเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม 2019 และตีพิมพ์วารสารในเดือนมีนาคม 2020

ทั้งนี้ PERC มีหลักเกณฑ์ในการสำรวจโดยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นการถามคำถามที่แสดงให้เห็นถึงระดับการรับรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน โดยมีคำถามที่ใช้ในการสำรวจที่สำคัญ คือ “ท่านจะให้คะแนนปัญหาการทุจริตในประเทศที่ท่านทำงานหรือประกอบธุรกิจเท่าใด”

ปปช2

คะแนนคงที่ เนื่องจากสถานการณ์การทุจริตของประเทศไทย ในมุมมองการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถาม ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีบุคคลบางกลุ่มที่กระทำการทุจริตและทำให้ประเทศไทยเสื่อมเสียชื่อเสียง แต่กลุ่มบุคคลส่วนใหญ่มีการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เรียกรับสินบนแลกอำนวยความสะดวก

5. แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน (ปี 2019 ได้ 32 คะแนน) ICRG เป็นการจัดอันดับความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ทั้งความเสี่ยงด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจและด้านการเงิน วิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีการรายงานผลทุกเดือน ครอบคลุม 140 ประเทศทั่วโลก การคอร์รัปชัน  เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง PRS จึงมุ่งประเมิน “การคอร์รัปชันในระบบการเมือง” โดยรูปแบบการทุจริตที่พบมากที่สุด คือ การเรียกรับสินบน หรือการเรียกรับเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า/ส่งออก การประเมินภาษี รวมถึงระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง “การให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองแบบลับๆ และความสัมพันธ์ใกล้ชิดของนักการเมืองกับนักธุรกิจ”

ในแหล่งข้อมูล Political Risk Services International Country Risk Guide (ICRG) มีประเด็นที่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต คือ “การประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง”

รูปแบบของการคอร์รัปชันโดยตรงที่การดำเนินธุรกิจพบบ่อยครั้ง คือ การเรียกร้องเงินหรือการต้องจ่ายสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งใบอนุญาตการนำเข้าและส่งออก (Import and Export Licenses) การควบคุมการส่งออก (Exchange Controls) การประเมินภาษี การคุ้มครองจากตำรวจ หรือ การกู้ยืมขอให้ท่านช่วย ให้คะแนนปัญหาการคอร์รัปชัน ทั้งการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจริง หรือ โอกาสที่จะเกิดการคอร์รัปชันจากระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือญาติ การฝากเข้าทำงาน การต่างตอบแทน การระดมทุนที่เป็นความลับและความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่น่าสงสัยระหว่างนักการเมืองกับภาคธุรกิจ

“คะแนนคงที่ เนื่องจากส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่แหล่งข้อมูลนี้มีการรายงานผลทุกเดือน และในรอบปีที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ใดที่ทำให้คะแนนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดหรือลดลงแบบรุนแรง ดังนั้น คะแนนจึงยังคงที่”

ปปช3.

แนะไทยเร่งปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน

ทั้งนี้องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยระบุว่า

1. ต้องมีการสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทรัพยากรต่าง ๆ จะไปถึงผู้ที่มีความต้องการอย่างแท้จริง และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและหน่วยงานตรวจสอบต้องได้รับจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรที่เพียงพอ รวมถึงมีความเป็นอิสระในการดำเนินการ

2. สร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเปิดเผยและความโปร่งใสในการได้รับสัญญา เพื่อขจัดการกระทำผิดและขัดกัน แห่งผลประโยชน์ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรม

3.ปกป้องประชาธิปไตยและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมือง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบ

4.เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและรับรองการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าสาธารณชนได้รับข้อมูลสำคัญได้ โดยง่าย สะดวก และตรงต่อเวลา

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight