Digital Economy

5 ประเด็นน่าเรียนรู้จาก ‘ซีบิท อาเซียน ไทยแลนด์ 2018’

Cebit Asean Thailand 2018
Cebit Asean Thailand 2018

ถึงจะเป็นงานที่จัดบนพื้นที่ไม่ใหญ่นักเพียงฮอลล์ 7 – 8 ของอิมแพค เมืองทองธานี แต่ ซีบิท อาเซียน ไทยแลนด์ (CEBIT ASEAN Thailand) ก็มีนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการชาติต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทยมาจัดแสดงอยู่ไม่น้อย โดยสิ่งที่คนไทยสามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ได้จากงานนี้มีหลายด้าน ได้แก่

1. มองหาโอกาสด้วยโซลูชันที่ครบวงจร

โรงงานอัจฉริยะจำลอง
โรงงานอัจฉริยะจำลอง

ภาพด้านบนนี้เป็นแท่นจำลองโรงงานอัจฉริยะมาพร้อมเทคโนโลยีเบื้องหลังส่งตรงจากญี่ปุ่นของทางเอบีม คอนซัลติ้ง ซึ่งตัวแท่นทำได้ดี ที่ติดตั้งเซนเซอร์จับสัญญาณต่าง ๆ มาได้ค่อนข้างครบบนพื้นที่ขนาดเล็ก ส่วนระบบการทำงานเบื้องหลัง ก็ยังสะท้อนแนวคิดของญี่ปุ่นคือ ธุรกิจไม่ได้มีโรงงานแห่งเดียว แต่โรงงานของญี่ปุ่นกระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ระบบจึงรองรับการเชื่อมต่อโรงงานทั้งหมดเข้าด้วยกันผ่านเซนเซอร์ IoT และคลาวด์ และทำให้ภาพของการผลิตโดยรวมสามารถรายงานตรงต่อผู้บริหารได้แบบเรียลไทม์ ในจุดนี้อาจเป็นบทเรียนในการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะนั้นว่าต้องออกแบบโดยมองจากภาพรวม และมองความเชื่อมโยงของระบบต่าง ๆ ให้มากที่สุด

2. มองหาโอกาสบนนวัตกรรม

AI SILK
AI SILK

แม้จะเป็นบูธเล็ก ๆ อยู่ในโซนของประเทศญี่ปุ่น แต่นวัตกรรมของ AI SILK ก็ไม่ธรรมดา เพราะ AI SILK สามารถพัฒนาเส้นใยที่นำไฟฟ้าได้ โดยมีการประยุกต์ใช้กับเส้นใยได้หลากหลาย รวมถึงออกแบบให้ใช้งานได้เฉพาะจุดก็ยังได้เช่นกัน ทีม AI SILK เผยว่า ผลงานของพวกเขาสามารถช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อลดอาการเหน็บชาได้ด้วย โดยทางทีมอยู่ระหว่างหานักลงทุนเพื่อผลิตในเชิงพาณิชย์ แต่สิ่งที่ได้มองเห็นจากทีม AI SILK ก็คือนวัตกรรมด้านเส้นใยเป็นสิ่งที่ตลาดสินค้าแฟชั่น และตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพกำลังต้องการ

3. มองหาโอกาสจากภาคส่วนที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี

แอพพลิเคชันสำหรับเกษตรกรสวนลำไยจากโซเชียลคลาวด์
แอพพลิเคชันสำหรับเกษตรกรสวนลำไยจากโซเชียลคลาวด์

อีกหนึ่งบูธนวัตกรรมด้าน IoT ที่มาจัดแสดงของนักพัฒนาไทย ซึ่งหลังจากได้ฟังเรื่องราวเบื้องหลังแล้วต้องบอกว่าไม่เล็ก เพราะทางทีมได้บุกไปถึงเชียงใหม่ เพื่อศึกษาปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกสวนลำไยในด้านต่าง ๆ โดยนายจาระนัย ศรีกระจ่าง กรรมการผู้จัดการบริษัท โซเชียลคลาวด์ได้เล่าให้เราฟังว่า เกษตรกรส่วนใหญ่นั้นยังไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี และไม่ทราบว่าสมาร์ทโฟนในมือนั้นสามารถตรวจสอบราคาตลาด สภาพภูมิอากาศ รวมถึงราคาของผลผลิตทางการเกษตรได้ นั่นจึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบ IoT อัจฉริยะสำหรับสวนลำไย โดยสามารถสั่งเปิดปิดน้ำ ใส่ปุ๋ย และสามารถตรวจสอบสภาพผลผลิตได้ผ่านเซนเซอร์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่ในสวนให้กับเกษตรกรสวนลำไยในเชียงใหม่

ในจุดนี้ แสดงให้เห็นว่า ในประเทศไทยยังมีภาคส่วนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีอีกมาก และการลงพื้นที่ของภาคธุรกิจ หรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อไปร่วมศึกษากับภาคการเกษตรโดยตรงก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ

4. มองหาโอกาสจากแอพพลิเคชันเพื่อผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม

แอพพลิเคชัน MyMooBan
แอพพลิเคชัน MyMooBan

แอพพลิเคชันฝีมือคนไทยอีกหนึ่งตัวที่พัฒนามาเพื่อเป็นระบบบริหารจัดการให้กับหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งภายในระบบถือว่ามีฟังก์ชันค่อนข้างครบ เช่น ฟังก์ชันด้านการแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือเวลามีพัสดุมาส่งก็แจ้งลูกบ้านให้ทราบได้ผ่านแอพตัวนี้ แต่สิ่งที่ดูแล้วน่าสนใจก็คือ ตัวระบบสามารถสแกนบัตรประชาชนของบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อแล้วเก็บไว้ในคลาวด์ได้เลย ทำให้ไม่ต้องแลกบัตร หรือว่าใช้คูปอง ซึ่งทางทีมงานเผยว่า โมดูลนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานมากด้วย

5. มองหาโอกาสจากการสร้างอินเทอร์เฟสใหม่่ ๆ

popinc
popinc

แนวคิดของ Popinc คือการออกแบบวิธีการถ่ายภาพใหม่ให้ง่ายมากขึ้น ด้วยการไม่ต้องกดปุ่มใด ๆ ใช้เพียงการเอียงสมาร์ทโฟน กล้องก็จะถ่ายภาพให้เลยทันที ในจุดนี้ ทาง Popinc เห็นว่า ที่ผ่านมา การใช้นิ้วโป้งกดปุ่มถ่ายรูปนั้น เสี่ยงต่อการทำโทรศัพท์มือถือหล่นนั่นเอง แต่นอกจากความสามารถด้านการเอียงกล้องเพื่อถ่ายภาพแล้ว ระบบเบื้องหลังยังมีเอไอ ที่สามารถนำมาเสิร์ชหาสินค้าที่ต้องการได้ด้วย ซึ่ง Popinc มองว่าเหมาะสำหรับการมองหาพาร์ทเนอร์ในประเทศที่อีคอมเมิร์ซ และวงการโฆษณากำลังเติบโตนั่นเอง

แม้ว่างาน ซีบิท อาเซียน ไทยแลนด์ จะจบลงแล้ว แต่สำหรับแนวคิดของหลาย ๆ บูธภายในงานสะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการด้านเทคโนโลยีนั้นยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ขอเพียงมองหาความต้องการของผู้ใช้งานให้เจอ ซึ่งไม่แน่ว่าตลาดที่ภาคธุรกิจพบเจอนั้น อาจเติบโตและกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในอนาคตก็เป็นได้

Avatar photo