Environmental Sustainability

โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน

ขยะมูลฝอยที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน เช่น บ้านพักอาศัย สถานประกอบการ ร้านค้า สถานบริการ ตลาดสด สำนักงาน เป็นต้น กำลังกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ นับวันมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น และสร้างมลภาวะทางอากาศ

สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ก่อให้เกิดการทิ้งขยะ และขาดการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี ทำให้บางพื้นที่เกิดปัญหาขยะล้นเมือง

โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน

ปัจจุบัน “ขยะ” ในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ขยะอุตสาหกรรม ขยะติดเชื้อ และขยะชุมชน ซึ่งขยะชุมชนถือเป็นปัญหามากที่สุด เพราะมีปริมาณมาก ยิ่งช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด‑19) พฤติกรรมของผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้คาดว่าจะเกิดการสร้างขยะ และทิ้งขยะเพิ่มขึ้น

“ขยะชุมชน” จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ หากไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดี โดยข้อมูล กรมควบคุมมลพิษ ปี 2561 พบว่าคนไทยทิ้งขยะวันละ 76.21 ล้านกิโลกรัม หรือ ปีละ 27.82 ล้านตัน เทียบได้กับการนำ “ตึกใบหยก 2” จำนวน 142 ตึกมาเรียงต่อกัน

ในปี 2561 จากปริมาณขยะทั้งหมด 27.82 ล้านตัน การจัดการขยะในประเทศไทย มีจำนวน 10.88 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง และ 9.58 ล้านตัน ถูกนำไปรีไซเคิล ส่วนที่เหลือ 7.36 ล้านตัน ยังกำจัดไม่ถูกวิธี

ตอนที่7 2 e1638859700235

รัฐบาลหนุน โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน สร้างโรงไฟฟ้าขยะ 900 เมกะวัตต์

ภาครัฐพยายามแก้ไขปัญหา โดยกำหนดให้ “ขยะ” เป็นวาระแห่งชาติ วาง Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ฉบับผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 ที่มีแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว มีการออกกฎหมาย ยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวง/ผังเมืองรวมในกิจการโรงงาน ออก พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ของ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

อีกแนวทางสำคัญ มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน นำขยะไปจัดทำเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยบรรจุใน แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) อีก 400 เมกะวัตต์ จากแผน AEDP 2015 มีแผนรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ รวมเป็น 900 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ 42 โรง กำลังผลิตรวม 388.31 เมกะวัตต์ สามารถกำจัดขยะได้ 6.4 ล้านตันเท่านั้น

ล่าสุด กระทรวงพลังงาน ส่งสัญญาณเตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผน AEDP 2018 ฉบับปรับปรุง อีก 400 เมกะวัตต์ ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 นับเป็นนโยบายที่สำคัญในการช่วยประเทศบริหารจัดการขยะชุมชน ไม่ให้เป็นปัญหาลุกลามในอนาคต

โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ปรับกระบวนการขออนุญาต ลดอุปสรรคตั้งโรงไฟฟ้า

การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีขั้นตอนการอนุญาตที่ใช้ระยะเวลานานและเกี่ยวข้องกับ 2 กระทรวงหลัก โดยกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักในการคัดเลือกผู้ดำเนินโครงการ และพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้า มีกระบวนการขออนุญาต ประมาณ 10 ขั้นตอน ใช้เวลา 2-3 ปี

จากนั้นต้องส่งเรื่องไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อดำเนินการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า แม้ว่าจะเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่ก็ไม่สามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้ทันที เพราะยังต้องรอการพิจารณาจากกระทรวงพลังงานก่อน ทำให้กว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าขยะได้แต่ละโรง ต้องใช้เวลาเตรียมความพร้อม 4-5 ปี ตามเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ที่ต้องการให้ภาครัฐลดระยะเวลาและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เช่น ข้อจำกัดเรื่องผังเมือง ติดปัญหาพื้นที่สีเขียวเป็นอุปสรรคต่อการหาพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้า และการต่อต้านของชุมชน เป็นต้น

ตอนที่7 Recovered 02 e1638859745281

กำหนดมาตรฐานโรงไฟฟ้าขยะเข้มงวด

แนวทางการกำจัดขยะ โดยนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า เป็นวิธีการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพสูงสุดทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วต่างก็กำจัดขยะ โดยการนำไปเผาและสร้างเป็นพลังงานแทบทั้งสิ้น เพราะขยะที่ผ่านการเผาจะเหลือเป็นขี้เถ้า ปริมาณเพียงเล็กน้อย ประหยัดพื้นที่ ต่างจากวิธีการฝังกลบ ที่ต้องใช้พื้นที่มหาศาล และยังเสี่ยงต่อการเกิดมลภาวะกับน้ำใต้ดิน และแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ รวมทั้งจะต้องขยายพื้นที่ฝังกลบไปอย่างไม่รู้จบ

ขณะที่เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ปัจจุบันได้แก่

1. เทคโนโลยีทางความร้อน

2. เทคโนโลยีทางชีวภาพ

3. เทคโนโลยีทางกล

ได้ถูกพัฒนาให้ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในเรื่องการจัดเก็บขยะตั้งแต่แหล่งกำเนิด การขนส่ง การจัดเก็บในโรงไฟฟ้า ที่ไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนต่อชุมชน โดยทุกขั้นตอนจะมีกฎระเบียบและกฎหมายควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

ข้อมูลของ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ประเมินว่าการรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน 900 เมกะวัตต์ ตามแผน AEDP 2018 จะสามารถกำจัดขยะได้ 14.85 ล้านตันต่อปี ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ 68.68 ล้านลูกบาศก์ฟุต หรือช่วยชาติประหยัดได้ 15,860 ล้านบาท

หัวใจสำคัญของ “โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ” ไม่ใช่ การผลิตไฟฟ้า แต่เป็นการสร้างกลไกบริหารจัดการขยะ การคัดแยกประเภทขยะ ขยะแห้ง ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล รวมถึงโรงไฟฟ้าขยะต้องได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม เป็นที่ยอมรับของชุมชน จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ยังจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และชุมชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight