Wellness

เช็คด่วน! เปิดชื่อ ’10 อาหารแช่แข็ง’ โซเดียมสูงมาก เสี่ยงโรคไต

เปิดผลสำรวจ อาหารแช่แข็งในไทยกว่า 53 ตัวอย่าง พบหลายผลิตภัณฑ์มีปริมาณโซเดียมสูง หากบริโภคมากเกินไปเสี่ยงโรคไต และโรคอันตรายอื่น ๆ  แนะอ่านฉลากโภชนาการ ก่อนซื้อบริโภค

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยผลสำรวจ ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภค และกึ่งสำเร็จรูป เพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียม กลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็นแช่แข็ง สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง

 อาหารแช่แข็ง

ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคม เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา  จำนวน 35 ตัวอย่าง  พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม
  • กลุ่มอาหารอ่อน       ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู          จำนวน 15 ตัวอย่าง  พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม
  • กลุ่มขนมหวาน        ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230 มิลลิกรัม

ทางด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ

ปัจจุบัน สาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม

จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ย ในประชาชนไทย เท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา  เทียบกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่า ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

 อาหารแช่แข็ง

ปริมาณการบริโภคโซเดียมโดยเฉลี่ย

  • ภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน
  • ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน
  • ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน
  • กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3,316 มก./วัน ตามลำดับ

ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมา และโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบในเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร

นอกจากนี้ ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรส หรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟู ที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐ โดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 และอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น

 อาหารแช่แข็ง

10 อาหารแช่แข็ง “โซเดียม” สูงที่สุด (กลุ่มอาหารจานด่วน)

  • ข้าวคลุกน้ำพริกกะผิปลาทู ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,390 มิลลิกรัม
  • ผัดไทยกุ้งสด ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,360 มิลลิกรัม
  • ผัดไทยกุ้งสด ของ มาย ช้อยส์ ปริมาณโซเดียม 1,310 มิลลิกรัม
  • ยากิโซบะหมู ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,290 มิลลิกรัม
  • ข้าวผัดคะน้าปลาเค็ม ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,280 มิลลิกรัม
  • ข้าวผัดกะเพราขี้เมาไก่ ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,200 มิลลิกรัม
  • ข้าวผัดปู ของ เดลี่ไทย ปริมาณโซเดียม 1,200 มิลลิกรัม
  • ข้าวผัดกุ้ง ของ เดลี่ไทย ปริมาณโซเดียม 1,100 มิลลิกรัม
  • ข้าวผัดปู ของ KING CHEF ปริมาณโซเดียม 1,100 มิลลิกรัม
  • ข้าวผัดปู ของ Family Mart ปริมาณโซเดียม 1,050 มิลลิกรัม

 อาหารแช่แข็ง

10 อาหารแช่แข็ง “โซเดียม” สูงที่สุด (กลุ่มอาหารอ่อน)

  • ข้าวต้มหมู ของ Family Mart ปริมาณโซเดียม 1,340 มิลลิกรัม
  • เกี๊ยวกุ้ง ของ ซีพี ปริมาณโซเดียม 1,160 มิลลิกรัม
  • เกี๊ยวกุ้ง ของ บิ๊กมีล ปริมาณโซเดียม 1,130 มิลลิกรัม
  • เกี๊ยวน้ำหมู ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,120 มิลลิกรัม
  • เกี๊ยวน้ำกุ้ง ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 1,020 มิลลิกรัม
  • ข้าวต้มหมูสับ ของ ท็อปส์ ปริมาณโซเดียม 990 มิลลิกรัม
  • เกี๊ยวน้ำหมู ของ บิ๊กมีล ปริมาณโซเดียม 940 มิลลิกรัม
  • ข้าวต้มปลากะพง ของ ท็อปส์ ปริมาณโซเดียม 920 มิลลิกรัม
  • ข้าวต้มหมู ของ อีซี่โก ปริมาณโซเดียม 840 มิลลิกรัม
  • โจ๊กหมูทรงเครื่อง ของ KING CHEF ปริมาณโซเดียม 790 มิลลิกรัม

 อาหารแช่แข็ง

การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิด หรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็ง พร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียม หรือเกลือ ที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย

ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่นที่ ฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี

ปัจจุบันยังมี แอปพลิเคชัน ฟู้ดช้อยส์ “FoodChoice” ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทาน หรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจได้ง่าย

โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo