COLUMNISTS

50 Genius Company ทำไมองค์กรเหล่านี้ถึงติดอันดับ!!

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
394

สวัสดีครับ ครั้งนี้มีเรื่องน่าสนใจจะชวนคุยด้วยคือเรื่อง บริษัทอัจฉริยะ หรือ Genius Company ครับ เข้าใจว่าส่วนใหญ่แล้วเราจะคุ้นเคยกับบริษัทที่ถูกจัดอันดับของนิตยสารธุรกิจดังๆ เช่น Fortune หรือ Forbes ที่จะมีพวก Top 10, Top 100, Top 500 ฯลฯ พวกนี้กันอยู่แล้ว ซึ่งการจัดอันดับเหล่านี้ก็จะเป็นการดูตามผลงาน ผลประกอบการ หรือ “ขนาด” ของบริษัทหรือองค์กร ฯลฯ เป็นหลัก แต่ครั้งนี้ที่จะชวนคุยด้วยคือการที่นิตยสาร Time ได้จัดทำ 50 อันดับบริษัทอัจฉริยะขึ้นเป็นครั้งแรกในฉบับที่ออกเมื่อ 15 ตุลาคมนี้เอง!!

โดยโปรยเรื่องด้วยการเกริ่นนำว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจที่ ยิ่งใหญ่ คือการให้คำตอบกับปัญหาที่มีอย่างชาญฉลาด สร้างสรรค์ ซึ่งบางครั้งคำตอบของปัญหานั้นถึงกับเปลี่ยนแปลงโลกของเราเลย Time ใช้วิธีให้เครือข่ายของบรรณาธิการ และผู้สื่อข่าวของตนทั้งโลกเสนอชื่อบริษัทที่คิดว่าบริษัทเหล่านั้นกำลังเปลี่ยนโลกเราอยู่ แล้วหลังจากนั้นจึงนำมาพิจารณาในเกณฑ์ต่างๆ เช่น ความสำเร็จที่มี ความทะเยอทะยานของบริษัท การสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้น จนถึง ความเป็นตัวตนที่แตกต่าง สุดท้ายคัดมา 50 บริษัทที่เรียกว่า 50 บริษัทอัจฉริยะ หรือ Genius Company เห็นเกณฑ์พิจารณาแล้วก็น่าสนใจนะครับ

มีดูเรื่อง “ความทะเยอทะยานของบริษัท” ด้วย ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดเองว่าง่ายๆ เลยคือดูที่วิสัยทัศน์เขาว่ามัน “เจ็บ” และ “เจ๋ง” แค่ไหน เพราะบริษัทหรือองค์กรที่ดีจะไม่เขียนวิสัยทัศน์เพียงเพราะให้ได้ชื่อว่ามี หรือ เป็นแฟชั่นต้องทำ หรือ ให้ฟังดูดี แต่ต้องทำให้ได้ ไปให้ถึงจริงๆ ด้วย กลับมาดูที่รายชื่อทั้ง 50 บริษัทอัจฉริยะกัน บอกได้เลยว่าส่วนใหญ่แล้วเราๆ ท่านๆ จะไม่รู้จักเลย! อย่าลืมนะครับว่าบริษัทเหล่านี้เขาไม่ได้ดูที่ขนาดหรือผลประกอบการเป็นเกณฑ์ ที่เรารู้จักกันดีที่จะเอ่ยชื่อได้ก็มี เช่น AirBNB, Amazon, Apple, Disney, Domino,Houston Astro, Lockheed Martin, Merck, Netflix, Nike, Nintendo, Pinterest, Singapore Airlines, SpaceX, Volvo, และ Xiomi เป็นต้น ที่เหลืออีกกว่า 30 บริษัทหรือองค์กรเราได้แต่ร้องอ๋อ!! เพราะไม่รู้จัก งงๆ

 

Houston Astros
ภาพจาก Wikipedia

เมื่อมาดูที่เขาสรุปเป็น Highlight ของแต่ละแห่งก็จะรู้เลยว่าบริษัทหรือองค์กรเหล่านี้ทำไมถึงติดอันดับได้ ขอยกตัวอย่างมาให้เห็นเป็นแรงขับเคลื่อนความคิด และโหมไฟในตัวไปด้วยกัน อย่างเช่น Houston Astro ทีมเบสบอลของเมืองฮุสตัน สหรัฐอเมริกา เขาเล่นกีฬาเบสบอลซึ่งอเมริกันชนถือว่าเป็น National Pastime หรือ กีฬาที่เป็นเหมือนงานอดิเรกของชาติ ซึ่งเหมือนกีฬาอื่นๆ คือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แต่ทีม Houston Astro ทำการเปลี่ยนโลกของการแข่งเบสบอลโดยสิ้นเชิง เช่น จ้างวิศวกรจาก NASA มาเป็นผู้อำนวยการ Decision Sciences คนแรกของกีฬา

Disney

นอกจากนี้ ยังวางตำแหน่งตัวผู้เล่นตามการคาดการณ์ว่าลูกเบสบอลจะไปทางทิศไหน-อันนี้ต้องเข้าใจวิธีเล่นกันนิดนึง-เอาวิทยาศาสตร์และปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้ในการทำทีม วางแผนการเล่น หรือแม้แต่การคัดเลือกผู้เล่นที่จะมาร่วมทีม และสำหรับการบริหาร ทีม Houston Astro ก็จ้างคนจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง McKinsey มาเป็นผู้บริหารและนำการเปลี่ยนแปลงดังที่เห็น จนให้สัมภาษณ์ว่าทีม Houston Astro จะเป็นทีมเบสบอลที่จะ “ฉลาด” ขึ้นเรื่อยๆ (ฉลาด นะครับ เขาใช้คำ Smarter) หรืออย่างบริษัทที่อยู่อันดับหนึ่งของการจัดอันดับ คือ Disney น่าทึ่งมากว่านี่เป็นการจัดอันดับบริษัทอัจฉริยะ แต่อันดับหนึ่งกลับไม่ใช่บริษัทที่อยู่ในกลุ่มวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี Disney ภายใต้การนำของ Bob Iger มีภาพยนตร์ 5 เรื่องที่ติดใน 10 อันดับภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาล ช่วง 5 ปีก่อนที่เขารับตำแหน่งนั้น หุ้น Disney ราคาร่วงลงประมาณ 1 ใน 3 แต่ในยุคเขานั้นมูลค่าตลาดของ Disney เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว ให้ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของบริษัทใน S&P 500 กว่าเท่าตัว จดสิทธิบัตรกว่า 4 เท่าจากเดิม เข้าซื้อ Franchise อย่าง Star Wars และ Marvel ฯลฯ สิ่งที่ Disney ทำนั้น Time เขียนไว้ว่าตรงข้ามกับที่ยักษ์ใหญ่ในวงการส่วนใหญ่ทำ คือ การทำให้บริษัทที่เยี่ยมอยู่แล้ว เยี่ยมขึ้นๆ โดยกล้าที่จะผจญกับความเสี่ยง สิ่งที่สรุปให้เห็นภาพดีที่สุดในตอนท้ายนี้คือคำพูดของ Tim Cook CEO ของ Apple ที่ว่า สิ่งที่ Iger ทำที่ Disney คือ สิ่งที่ CEO ของบริษัทพวก Tech เช่น Apple ทำ คือ มองเกมและตัดสินใจไปข้างหน้า