Business

ดัชนีความเชื่อมั่น ‘กรุงเทพฯ’ ต่ำสุดต่อเนื่อง สะท้อนอนาคตเศรษฐกิจชะลอตัว

สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภูมิภาค RSI พบ “กรุงเทพฯ ปริมณฑล” ต่ำสุดในประเทศต่อเนื่อง สะท้อนภาพอนาคต เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ “เหนือ อีสาน ใต้” ทิศทางดีขึ้น

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย รายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (Thailand Regional Economic Sentiment Index: RSI) ประจำเดือนมกราคม 2564 พบว่า ดัชนี RSI เดือนมกราคม 2564 ชี้แนวโน้มความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในบางภูมิภาค โดยเฉพาะภาคการลงทุนและภาคบริการของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่

อย่างไรก็ดี แนวโน้มความเชื่อมั่นในอนาคตของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ภาคใต้ และภาคตะวันออกยังมีทิศทางที่ดีขึ้น

กรุงเทพฯ เศรษฐกิจชะลอตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจอีสา อยู่ที่ระดับ 55.7 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรและภาคการลงทุน เนื่องจากการเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวในภาคเกษตรส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ในส่วนของภาคการลงทุนคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 53.7 แสดงถึงความเชื่อมั่น เศรษฐกิจ ในอนาคตที่ยังมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราเพิ่มสูงขึ้น อาทิ เช่น ถุงมือแพทย์ ถุงยางอนามัย ยางยืด และยางรถยนต์ เป็นตัน

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 52.2 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตร ประกอบกับมาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 50.1 สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในระดับที่ทรงตัว เนื่องจากเกษตรกรคาดว่าปริมาณน้ำอาจจะไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงสิ้นสุดฤดูฝนและเข้าสู่ฤดูแล้ง จึงลดพื้นที่การเพาะปลูกลง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์การกระจายวัคซีนป้องกันโรคอย่างทั่วถึงยังสร้างความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ม.ค. 64

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง อยู่ที่ 43.4 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคการเกษตรและภาคการจ้างงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนและลดการจ้างงานลง

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 41.3 สะท้อนถึงการคาดการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรยังมีแนวโน้มความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นโดยคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายและทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 40.7 สะท้อนภาวะอนาคต เศรษฐกิจชะลอตัว ในภาพรวม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในเดือนมกราคม 2564 ยังคงต่ำที่สุดในประเทศต่อเนื่องจากปลายปี 2563

 

“เศรษฐกิจ 2564” คาดขยายตัวลดลงเหลือ 2.8%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2563 มาที่ -6.5% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ -6.8 ถึง -6.3%) จากเดิมที่คาดไว้ที่ -7.7% สาเหตุที่ GDP ปีนี้ติดลบน้อยลง เนื่องจากการที่รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี และมีมาตรการเยียวยาออกมาต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.8% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.3 – 3.3%) ปรับลดจากการการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ที่ระบาดในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำให้คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2564 จะลดลง

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณบวกจากการได้รับวัคซีนของประชากรในประเทศต่าง ๆ ในระยะต่อไป ประกอบกับภาครัฐได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

ประกอบกับคาดว่า จะมีการเบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจ้างงานให้เพิ่มสูงขึ้น

คลัง28164

โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 2.5% ต่อปี และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.4% ต่อปี ขณะที่การบริโภคภาครัฐ จะขยายตัวที่ 6.1% ต่อปี และการลงทุนภาครัฐ จะขยายตัวที่ 12.1% ต่อปี สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัวที่ 6.2% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 5.7 – 6.7%)

โดยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจ ประเทศคู่ค้าสำคัญ ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.3% ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 0.8 – 1.8%) ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้น และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าของวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo