COVID-19

จับตา ‘โควิดกลายพันธุ์’ บราซิล ส่อหลบภูมิคุ้มกัน-พบติดเชื้อซ้ำอื้อ

นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก อยู่ระหว่างการติดตามไวรัสโควิด-19  ที่กลายพันธุ์ในบราซิล และเริ่มลุกลามไปยังสหรัฐ อย่างใกล้ชิด หลังพบความเป็นไปได้ว่า ไวรัสชนิดใหม่นี้อาจมีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันของมนุษย์เพิ่มขึ้น นำไปสู่การติดเชื้อซ้ำสอง

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ ออกมายอมรับว่า กำลังเร่งปรับปรุงวัคซีนเข็มที่สอง (บูสเตอร์) ให้มีความสามารถในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดใหม่ที่กลายพันธุ์มาจากประเทศแอฟริกาใต้ได้ หลังการศึกษาล่าสุด พบว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพลดลงต่อไวรัสชนิดที่มาจากแอฟริกาใต้

shutterstock 1776244757

สำหรับเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ ที่สร้างความกังวลให้นักวิทยาศาสตร์มากที่สุดขณะนี้ คือ พี.1 พบครั้งแรก ที่เมืองมาเนาส์ มีประชากรราว 2 ล้านคน มากที่สุดในรัฐอาร์มาโซนัส ของประเทศบราซิล เมื่อเดือนธันวาคม 2563 และเริ่มพบการระบาดรอบใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ล่าสุด ทางการสหรัฐ ยังตรวจพบผู้ติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ชนิดนี้ เป็นคนแรกในประเทศด้วย ที่รัฐมินเนโซตา จากการสุ่มตรวจการติดเชื้อผ่านการเก็บตัวอย่าง ด้วยการ สวอบโพรงจมูก โดยผู้ติดเชื้อคนนี้มีประวัติเดินทางมาจากบราซิล

นายเจเรมี ลูแบน นักไวรัสวิทยา จากมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ กล่าวว่า “หากจะถามผมว่าตอนนี้มีอะไรที่น่ากังวลที่สุด ผมคิดว่าต้องเป็นการระบาดรอบใหม่อย่างรวดเร็วกะทันหันที่เมืองมาเนาส์ของบราซิลครับ”

กรณีที่เกิดขึ้นสร้างความสงสัยให้กับนักวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง เนื่องจากการระบาดรอบแรก ที่เมืองมาเนาส์นั้น มีผู้ติดเชื้อสูงมาก คิดเป็นประชากรถึงร้อยละ 75 ของทั้งเมืองมาตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว ซึ่งตามหลักแล้วน่าจะเป็นสถานที่แรก ๆ ของโลก ที่เกิดภาวะ “ภูมิคุ้มกันหมู่” ได้

ความน่ากังวลของไวรัสซาร์ส 2 ชนิด พี.1 มาจากการที่นักวิทยาศาสตร์ ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าเชื้อชนิดใหม่นี้ ระบาดรอบใหม่อย่างรวดเร็ว และกว้างขวางได้อย่างไร หากอนุมานว่า ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นแล้ว อีกข้อเป็นการตรวจพบว่า มีรูปแบบการกลายพันธุ์ที่ค่อนข้างอันตรายในไวรัสชนิดนี้

รายงานระบุว่า ไวรัสซาร์ส 2 ชนิดที่กลายพันธุ์ในอังกฤษ จนทำให้มีความสามารถ ในการระบาด และความรุนแรงของโรคมากขึ้นนั้น ใช้เวลา 3 เดือน ในการระบาดไปทั่วประเทศ ขณะที่ชนิด พี.1 ในบราซิลนั้น ระบาดทั่วเมืองมาเนาส์ในเวลาเพียงเดือนเดียว

ที่สำคัญกว่านั้น ประชากรในเมืองมาเนาส์ เคยติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 กันเกือบทั้งเมือง ถึงขั้นมีงานวิจัยออกมาว่า น่าจะมากจนถึงขั้นกลายเป็นภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้วตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แต่ล่าสุด กลับเกิดการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็ว และรุนแรงได้ ในเวลาเพียง 10 เดือนถัดมา

shutterstock 1725259498

กรณีที่เกิดขึ้นนำไปสู่ชุดคำถาม เช่น เป็นไปได้หรือไม่ที่ พี.1 มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์เพิ่มขึ้นกว่าชนิดก่อนหน้า ที่ประชากรในเมืองมาเนาส์เคยติดมา ส่งผลให้ติดเชื้อชนิดใหม่ได้ หรือ พี.1 มีความสามารถในการระบาดมากขึ้นกว่าชนิดก่อนหน้า หรืออาจจะจริงทั้งสองอย่าง

นายบิล ฮาร์เนจ นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ กล่าวว่า แม้นักวิทยาศาสตร์ จะยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เหตุใดไวรัสชนิดใหม่นี้ ถึงได้ระบาดซ้ำสองได้ในประชากรที่มีภูมิคุ้มกันหมู่ แต่คำอธิบายที่มีเหลืออยู่ให้ค้นหานั้น ไม่มีคำอธิบายใดดีทั้งสิ้น

นางเพนนี มัวร์ นักไวรัสวิทยาจากสถาบันโรคระบาดแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยกวาซูลู-นาตัล ประเทศแอฟริกาใต้ อธิบายว่า สมมติฐานที่อันตรายจากกรณีการติดเชื้อซ้ำนั้นมีหลายประการ

ยกตัวอย่าง ยีนส์กลายพันธุ์ในพี.1 นั้นเป็นแบบเดียวกันกับชนิดจากแอฟริกาใต้ ส่งผลให้บริเวณแท่งโปรตีนของไวรัสนอกเยื่อหุ้ม ซึ่งเป็นจุดที่แอนติบอดี้ จะเข้าไปจับเพื่อระบุเป้าหมาย ให้ภูมิคุ้มกันเข้าทำลายนั้นเปลี่ยนไป ทำให้แอนติบอดี้ จับได้ยากขึ้น และภูมิคุ้มกันมองไม่เห็น เทียบได้กับการคลุมผ้าคลุมล่องหน

สมมติฐานนี้ได้รับการพิสูจน์แล้ว ในห้องปฏิบัติการที่แอฟริกาใต้ โดยนักวิจัยนำเลือดของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ขนิดแอฟริกาใต้ 44 คน มาผสมลงในเซรุ่มที่เต็มไปด้วยแอนติบอดี เพื่อประเมินประสิทธิภาพของแอนติบอดี ซึ่งพบว่า มีประสิทธิภาพลดลงถึงครึงหนึ่ง แต่นักวิจัยยังไม่ได้ทดสอบว่าพี.1 จะออกมาเป็นแบบเดียวกันหรือไม่ แต่การศึกษารูปแบบการกลายพันธุ์นั้นบ่งชี้ว่าอาจมีแนวโน้มเช่นนั้น

shutterstock 1745351615

นายราวี กุปตา นักไวรัสวิทยา กล่าวว่า ทั้งหมดที่พบนี้ บ่งบอกถึงการแข่งขันกันระหว่างวัคซีน กับไวรัส เทียบได้กับแมวไล่จับหนู เพราะไวรัสก็พยายามกลายพันธุ์ เพื่อให้หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น ขณะที่มนุษย์ก็ต้องปรับปรุงวัคซีนให้เท่าทันไวรัสชนิดใหม่ ๆ ตลอดเวลา

“ปรากฎการณ์แบบนี้พวกเราเคยกันอยู่แล้วครับ คือ โรคไข้หวัดใหญ่จากไวรัสอินฟลูเอนซา มนุษย์เราสามารถหาทางที่จะสร้างวัคซีนมาดักทางไวรัสชนิดนี้ล่วงหน้าได้ทุกปี ผมคิดว่ากับโรคโควิด-19 คงจะไม่แตกต่างกัน”

“กระบวนการพวกนี้ต้องใช้เวลาทั้งนั้นครับ คงจะไม่มีหนทางแก้ไขแบบม้วนเดียวจบหรอก แบบทำอย่างนี้แล้วก็โอเคจบ เจ้าไวรัสโคโรนานี้คงจะก่อกวนชีวิตเราไปอีกนานครับ” กุปตา ระบุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo