COLUMNISTS

ต้องเพิ่ม Merit Order ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า

Avatar photo
1729
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ 2
ภาพจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

สัปดาห์ก่อนได้เขียนบทความเกี่ยวกับการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ หากมีการนำก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) เข้ามาย่อมมีราคาแพงกว่าราคาก๊าซ pool  หรือ ราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติ 3 แหล่ง ได้แก่ ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ราคานำเข้า LNG ซึ่งมีทั้งสัญญาระยะยาว และราคาตามตลาด (Spot)

หากศูนย์ควบคุมระบบกำลังผลิตไฟฟ้า กฟผ. (System Operation : SO) สั่งเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าจากราคาต้นทุนต่ำสุดไปยังราคาต้นทุนสูงสุด ที่เรียกว่า ระบบ Merit Order ก็ไม่สามารถสั่งให้โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ที่ใช้ LNG นำเข้าดังกล่าวผลิตไฟฟ้าได้ เพราะว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติราคา pool ซึ่งถูกกว่าได้ วันนี้จะมาขยายความว่าระบบ Merit order เป็นอย่างไร เพื่อให้มีความเข้าใจมากขึ้น

โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของไทยเราที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เรียกว่าระบบผู้ซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Enhanced Single Buyer : ESB) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2548 โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเองส่วนหนึ่ง และรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ผลิตทั้งไฟฟ้า และไอน้ำ (SPP) และนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) นั้น สามารถขายได้ตรงให้แก่ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ได้ ดังนั้น กฟผ.เองจึงดำเนินธุรกิจในการผลิตและจัดหาให้ได้มา และนำไปจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟน. และ กฟภ.

นอกจากนั้นยังได้รับมอบหมายภารกิจตามใบอนุญาตควบคุมระบบไฟฟ้าจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)โดยมีศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า ทำหน้าที่ในการวางแผน และดำเนินการควบคุมการผลิต และส่งพลังงานไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อให้ระบบไฟฟ้าของประเทศมีความมั่นคง เชื่อถือได้และมีคุณภาพ ด้วยต้นทุนที่    เหมาะสม โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย

โดยหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า จะต้องสั่งเดินเครื่องไฟฟ้าตามต้นทุนต่ำสุดไปยังราคาสูงสุดหรือระบบ Merit Order แต่เนื่องจากมีความจำเป็นต้องเดินเครื่องเพื่อรักษาความมั่นคง เชื่อถือได้ และมีคุณภาพเพียงพอต่อเนื่อง ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม โดยมีลำดับการวางแผนและสั่งการเดินเครื่อง ดังนี้

ลำดับแรก สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทที่จำเป็นต้องเดินเครื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบ ที่เรียกว่า Must Run ซึ่งถ้าไม่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าเหล่านี้แล้ว ระบบไฟฟ้าจะมีความมั่นคงลดลง และหากเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น อาจจะทำให้ไฟฟ้าดับได้

ลำดับที่สอง  สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทที่จำเป็นต้องรับซื้อขั้นต่ำตามสัญญา ที่เรียกว่า Must Take ซึ่งมีทั้งสัญญาด้านไฟฟ้า ได้แก่ สัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก และสัญญาด้านเชื้อเพลิง ได้แก่ สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำ เป็นต้น หากไม่สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเหล่านี้แล้ว จะนำไปสู่การจ่ายเงิน ค่าซื้อไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำ โดยไม่ได้รับพลังงานไฟฟ้า

ลำดับที่สาม  สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุด ไปยังต้นทุนสูงสุดตามลำดับ หรือ ระบบ Merit Order ตามความต้องการฟ้าในขณะนั้นๆ ในส่วนที่เหลือจากการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในสองลำดับแรก คือ Must Take และ Must Run แล้ว

ในปัจจุบัน ศูนย์ควบคุมระบบกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. มีการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า 2 ลำดับแรกประมาณร้อยละ 60 ส่วนอีกร้อยละประมาณ 40 เป็นการสั่งการเดินเครื่องตามระบบ Merit Order ซึ่งหมายความว่า การสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้ายังไม่มีต้นทุนต่ำสุด

หากสามารถสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้ตามระบบ Merit Order ได้มากขึ้น จะต้องมีการลงทุนระบบส่งไฟฟ้า เพื่อแก้ไขข้อจำกัดรวมทั้งมีการปรับปรุงระบบการรับซื้อไฟฟ้า และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าระบบที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันได้