COVID-19

‘โคแวกซ์’ ความหวังชาติรายได้น้อย ต้านภัยโควิด

สถานการณ์แพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกเกินกว่า 103 ล้านราย และเป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านรายนั้น ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า ประเทศที่มีฐานะร่ำรวย จะซื้อวัคซีนกักตุนไว้สำหรับประชาชนของตัวเอง ซึ่งจะทำให้ประเทศที่ยากจนกว่า เข้าถึงวัคซีนยากขึ้นไปอีก

ความวิตกดังกล่าว ทำให้เกิด โครงการนานาชาติ ที่ชื่อ “โคแวกซ์ ” (Covax) ขึ้นมา ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) องค์กรกาวี (Gavi, the Vaccine Alliance) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งทำงานร่วมกับผู้ผลิตวัคซีน ทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมายอันสูงส่งที่จะให้ทั้งประเทศร่ำรวย และยากจน ได้แบ่งวัคซีนกันอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมมากที่สุด

ปัจจุบัน ถือเป็นโครงการที่รวบรวมข้อมูลการพัฒนาวัคซีนจากกลุ่มวิจัยต่าง ๆ ไว้มากที่สุดในโลก รวมถึงวัคซีน 9 ตัวที่ได้รับการสนับสนุนจาก CEPI ซึ่ง 7 ตัวยังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกหรือทดลองในคน

โครงการนี้ใช้กลไกการจัดซื้อร่วมกันในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และใช้กรอบการจัดสรรวัคซีน ที่กำหนดโดย WHO  เพื่อรับประกันการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม โดยแบ่งตามสัดส่วนจำนวนประชากร และให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรก ก่อนจะขยายไปยังกลุ่มที่เปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีอาการป่วยจากโรคโควิด-19

225068544 scaled 1

184 ประเทศเข้าร่วม “โคแวกซ์”

WHO เปิดเผยว่า ขณะนี้มี 184 ประเทศที่เข้าร่วมในโครงการพันธมิตรด้านวัคซีนโควิด-19 หรือ โคแวกซ์ ที่มีเป้าหมายเร่งการพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ผู้อำนวยการ WHO “นพ.ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส” ระบุว่า  ขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนามากกว่า 100 ชนิดภายใต้โครงการนี้ ทำให้โคแวกซ์ เป็นโครงการที่รวบรวมวัคซีนที่มีโอกาสนำมาใช้กับโควิด-19 มากที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุด ในการแบ่งปันวัคซีนที่ปลอดภัย และมีประสิทธิผลอย่างเท่าเทียมทั่วโลก ถือเป็นวิธีที่รวดเร็วที่สุด ในการปกป้องชุมชนต่าง ๆ รักษาเสถียรภาพของระบบสาธารณสุข และฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก

โครงการนี้ตั้งเป้าว่า จะเริ่มจัดส่งวัคซีนในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ให้กับประเทศที่มีฐานะระดับยากจน และปานกลาง โดยผู้บริการโครงการ หวังว่า ถึงปลายปี 2564 จะจัดวัคซีนไปทั่วโลกให้ได้ 2,000 ล้านโดส

จากวัคซีนที่มีอยู่ทั้งหมดนั้น วัคซีนจำนวน 1,800  ล้านโดสจะถูกส่งไปยัง 92 ประเทศยากจนที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเข้าถึงประชากรในประเทศเหล่านั้นราว 20%

shutterstock 1740628409

ได้รับเงินบริจาคกว่า 6 พันล้านดอลลาร์

สำหรับประเทศอื่น ๆ ในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศยากจน โคแวกซ์ อาจเป็นทางออกเดียวจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจนถึงตอนนี้ โคแวกซ์เรี่ยไรเงินได้แล้ว 6,000 ล้านดอลลาร์ แต่ต้องการอีก 2,000 ล้านดอลลาร์ ถึงจะทำตามเป้าที่วางไว้สำหรับปี 2564 ได้

สหราชอาณาจักรได้บริจาคเงินให้ไปแล้ว 748 ล้านดอลลาร์  ขณะที่สหรัฐประกาศเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า จะให้ 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเรื่องการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ นี้ เป็นเรื่องแรก ๆ ที่  โจ ไบเดน ได้ลงนาม มื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

แต่แม้จะบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก  สหรัฐ และ ประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ก็ถูกกล่าวหาว่ากักตุนวัคซีนอยู่ดี

สถาบันสุขภาพโลก ของมหาวิทยาลัยดุ๊ก ในสหรัฐ พบว่า นับถึงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยจำนวนไม่กี่ประเทศ ซึ่งมีประชากรคิดเป็นแค่ 16% ของประชากรโลก ได้ซื้อวัคซีนไป 60% ของที่มีทั้งหมดในโลก

นพ. เกเบรเยซุส ย้ำว่า จะมีการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกันระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจน เขายังเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ที่ทำสัญญาจัดหาวัคซีนมากกว่า ที่พวกเขาต้องการ และกำลังควบคุมอุปทานวัคซีนทั่วโลก ให้บริจาค และระบายวัคซีนเหล่านั้นให้กับโครงการโคแวกซ์ในทันที

นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้ประเทศ และผู้ผลิตต่าง ๆ หยุดทำข้อตกลงทวิภาคี ซึ่งส่งผลกระทบกับการจัดหาวัคซีนของโคแวกซ์

“ปี 2564 อาจเป็นปีแห่งความหวังใหม่ ที่เราจะสามารถก้าวข้ามช่วงเวลายากลำบากจากโรคระบาดใหญ่ แต่เราจะไม่สามารถคว้าชัยชนะได้เลยหากทุกประเทศไม่ร่วมมือกัน ความสามัคคีทั่วโลกเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราเดินต่อไปข้างหน้าได้”

shutterstock 1850727400

ผู้ผลิตวัคซีน คู่สัญญาโคแวกซ์

โคแวกซ์ ระบุว่า ได้เซ็นสัญญาซื้อวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และ อ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา รวมถึงตัวอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติด้วย โดยเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่งเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนของไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคจำนวน  40 ล้านโดส

ซีอีโอ ไฟเซอร์ ระบุว่า วัคซีน 40 ล้านโดสนี้ จำหน่ายในราคาต้นทุน และอาจจัดหาให้เพิ่มเติมในอนาคต พร้อมเสริมว่า บริษัทจะช่วยจัดส่งวัคซีนไปยังประเทศรายได้ต่ำ โดยวัคซีนของไฟเซอร์ต้องจัดเก็บที่อุณหภูมิติดลบ

นพ. เกเบรเยซุส  ผู้อำนวยการ WHO ระบุว่า ขณะนี้กำลังหารือรายละเอียดของการจัดส่ง พร้อมแสดงความหวังว่า ประเทศต่างๆ จะบริจาควัคซีนของไฟเซอร์ เข้าโครงการโคแวกซ์ เหมือนนอร์เวย์ ที่นำวัคซีนมาแบ่งปัน เข้าโครงการพร้อม ๆ กับที่เริ่มฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo