Economics

ไม่มีสมาร์ทโฟนก็ลงทะเบียน ‘เราชนะ’ ได้ ทำยังไงที่นี่มีคำตอบ

เราชนะ ไม่มีสมาร์ทโฟนก็ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาผลกระทบ “โควิด” 7,000 บาทได้ ต้องทำอย่างไร ส่วนคน 2 กลุ่มที่ไม่ต้องลงทะเบียนคือใคร ได้รับเงินวันไหน ที่นี่มีคำตอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการ “เราชนะ” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจะสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชน จำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 วงเงินโครงการรวม 210,200 ล้านบาท โดยจะลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com และต้องยืนยันผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามในสังคมว่า คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มีอินเตอร์เน็ตจะลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาได้อย่างไร

เราชนะ

โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง เตรียมช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ให้ลงทะเบียนและรับเงินเยียวยาโครงการเราชนะได้ โดยจะให้สาขาของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย เปิดรับลงทะเบียนเป็นกรณีพิเศษ เริ่มตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

จากนั้น กระทรวงการคลัง จะหารูปแบบการใช้จ่ายที่เหมาะสมให้ เช่น อาจพิจารณาทำบัตรพิเศษ คล้ายบัตรสวัสดิการสำหรับให้ใช้จ่ายโดยเฉพาะ แต่จะต้องรอหารือข้อสรุปอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กรณีคนไม่มีโทรศัพท์มือถือในตอนนี้ แต่ตั้งใจจะซื้อใช้ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ได้ตั้งแต่ 29 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะได้รับเงินไปใช้รอบแรกทันวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

นายอาคม กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบให้ผู้เข้าร่วมโครงการเราชนะ ใช้จ่ายค่าบริการขนส่งสาธารณะได้ โดยมีการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมการเดินทาง ทั้งรถไฟฟ้าในเขตเมือง รถไฟ เรือ ยกเว้นค่าเครื่องบิน รวมถึงใช้จ่ายวินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ด้วย แต่จะต้องลงทะเบียนเข้าร่วม กับธนาคารกรุงไทยก่อน

ขณะที่การใช้จ่ายค่าเช่าห้อง หรือค่าเช่าบ้านนั้น จะใช้ได้เฉพาะคนที่ไม่ได้เป็นบริษัท หรือนิติบุคคลเท่านั้น ส่วนการออกมาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง และข้าราชการชั้นผู้น้อย ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการมานั้น คลังจะพิจารณาดูแลเพิ่มให้ แต่เป็นมาตรการใหม่ที่ไม่อยู่ร่วมกับโครงการเราชนะ เพราะถือเป็นว่าเป็นเป้าหมายคนละกลุ่มกัน

สำหรับกลุ่มที่ได้รับสิทธิเข้าโครงการโดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ มี 2 กลุ่มได้แก่

1. กลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ได้แก่

  • กลุ่มบัตรคนจน 10,127,587 คน (ที่มีรายได้กว่า 30,000 บาท/ปี จากที่ได้รับเงินในบัตรฯ 200 บาท/เดือน) จะได้รับเงินรวมเป็นคนละ 3,300 บาท ต่อเดือน
  • กลุ่มบัตรคนจน 3,610,436 คน (ที่มีรายได้ระหว่าง 30.000 – 100,000 บาท/ปี จากที่ได้รับเงินในบัตรฯ 300 บาท/เดือน) จะได้รับเงินรวมเป็นคนละ 3,200 บาท ต่อเดือน

ทั้งนี้จะได้รับเงินติดต่อกัน 2 เดือน : โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

2. กลุ่มลงทะเบียนคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันสำเร็จ และผ่านการยืนยันตัวตน ภายในวันที่ 27 มกราคม 2564 และกลุ่มที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูล จำนวน 1,736,197 คน คนละ 3,500 บาท เดือน

ซึ่งจากข้อมูล กระทรวงการคลัง ระบุว่า ระบบต้องคัดกรองคุณสมบัติ ดังนี้

  • ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
  • ไม่เป็นผู้รับบำนาญหรือเบี้ยหวัดจากราชการ
  • ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33
  • มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 300,000 บาท ในปีภาษี 2562
  • มีเงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท (ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562)

เมื่อกรองคุณสมบัติผ่านแล้ว จะได้รับข้อความให้กดรับสิทธิ โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่

สำหรับกลุ่มที่ 3 คือ ผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน และไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐใด ๆ ทั้งคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน มีวิธีลงทะเบียน ดังนี้

วิธีการลงทะเบียนของกลุ่มที่ 3 มีวิธีการลงทะเบียน ดังนี้

  1. เปิดลงทะเบียนเข้าไปที่ www.เราชนะ.com ตั้งแต่เวลา 06.00 น.
  2. กดปุ่มลงทะเบียน
  3. กดปุ่มข้อตกลงและความยินยอม
  4. กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน รวมถึงหลังบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด และเบอร์โทร
  5. รหัส OTP เด้งเข้าไป กรอกรหัสไป ระบบได้รับข้อมูลของท่านแล้ว

ทั้งนี้ สามารถลงทะเบียน “เราชนะ” ได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ซึ่งจะมีการคัดกรองสิทธิก่อน จึงจะใช้สิทธิได้ โดยสามารถตรวจสอบสิทธิอีกครั้งได้วันที่ 8 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

หากกรณีที่กลุ่มที่ 1 และ 2 มาลงทะเบียน ระบบจะแจ้งเตือนขึ้นมาว่า ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ หรือท่านสามารถตรวจสอบสิทธิได้ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo