World News

‘ไบเดน’ ลงนามคำสั่งบังคับหน่วยงานรัฐ ‘ซื้อสินค้าอเมริกัน’

“โจ ไบเดน” ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร ให้หน่วยงานรัฐ พิจารณาซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศก่อน ในความพยายาม ที่จะช่วยฟื้นฟูโรงงานต่าง ๆ ในท้องถิ่น

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ลงนามใน คำสั่งฝ่ายบริหาร เมื่อวานนี้ (25 ม.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อบังคับใช้กฎหมาย “ซื้อสินค้าอเมริกัน” หรือ “Buy American” ที่มีอยู่แล้ว และปิดช่องโหว่ต่างๆ ของกฎหมายฉบับนี้ ส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะหนุนภาคการผลิตในประเทศ

ไบเดน

การเคลื่อนไหวข้างต้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ การจ้างงาน ในโรงงานสหรัฐ ลดน้อยลงราว 540,000 ตำแหน่ง มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว  จากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะการระบาดใหญ่ ของเชื้อไวรัสโควิด-19

คำสั่งฝ่ายบริหาร ฉบับนี้ มีเป้าหมายนำงบประมาณรัฐ 600,000 ล้านดอลลาร์ไปจัดซื้อจัดจ้างเพื่อสนับสนุนโรงงาน และการจ้างงานในประเทศ

คำสั่งฉบับนี้ จะปรับเปลี่ยนกฎหมาย Buy American ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับให้ หน่วยงานรัฐของสหรัฐ ทุกหน่วยงาน ต้องจัดซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ โดยกฎที่เปลี่ยนใหม่นี้ จะทำให้คู่สัญญาที่ผลิตสินค้าให้หน่วยงานรัฐ ได้รับข้อยกเว้นเพื่อจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศ ให้กับหน่วยงานรัฐได้ยากขึ้น

กฎที่เปลี่ยนใหม่นี้ ยังกำหนดให้ ส่วนประกอบของสินค้าส่วนใหญ่ จะต้องมาจากโรงงานในสหรัฐ และคุ้มครองสินค้าอเมริกัน โดยเพิ่มส่วนต่างทางราคา ที่หน่วยงานรัฐจะสามารถซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้

“เรากำลังจะใช้เงินของผู้เสียภาษี เพื่อสร้างอเมริกาขึ้นมาใหม่ เราจะซื้อผลิตภัณฑ์อเมริกัน และสนับสนุนการจ้างงานชาวอเมริกัน”

ส่วนเรื่องที่ว่า คำสั่งนี้จะถูกมองว่า เป็นการปกป้องทางการค้าหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลสหรัฐรายหนึ่ง ระบุว่า คำสั่งนี้สอดคล้องกับคำมั่นของสหรัฐที่ให้ไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) และสหรัฐหวัง ที่จะทำงานร่วมกับบรรดาพันธมิตรทางการค้า เพื่อทำให้กฎการค้าโลกทันสมัยขึ้น

การเคลื่อนไหวดังกล่าว ยังเป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่ไบเดนให้ไว้ระหว่างการหาเสียง ถึงการสร้างงานในภาคการผลิตของสหรัฐมากขึ้น รวมถึง การขึ้นค่าแรง และสร้างงานมากขึ้น

ก่อนหน้านี้  หลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีคนที่ 46  ของสหรัฐ ก็ได้ลงนามใน คำสั่งฝ่ายบริหาร 15 ฉบับรวด เพื่อยกเลิกแผนงาน และนโยบายสมัยโดนัลด์ ทรัมป์

หนึ่งในนั้น คือ การลงนาม คำสั่งฝ่ายบริหา รฉบันหนึ่ง ยกเลิกกระบวนการถอนตัวของสหรัฐ ออกจาก องค์การอนามัยโลก (WHO)

“ชาวอเมริกันปลอดภัยมากขึ้น เมื่อสหรัฐ มีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็ง ให้กับวงการสาธารณสุขโลก วันแรกในฐานะประธานาธิบดี ผมจะกลับเข้าร่วม WHO และฟื้นฟูความเป็นผู้นำของสหรัฐในเวทีโลก” ผู้นำใหม่สหรัฐทวีต เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 หลังจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าประกาศแจ้งการถอนตัวจาก WHO แก่สหประชาชาติ (UN)

ไบเดน

รายงานจากสื่อหลายสำนักระบุว่า เขาเลือก แอนโทนี เฟาซี ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดชั้นนำของ สหรัฐ เป็นผู้นำคณะผู้แทนสหรัฐในการประชุมประจำปีของ WHO ในปลายสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้า ได้ริเริ่มกระบวนการถอนตัว สหรัฐ จาก WHO ไว้เมื่อปี 2563

ทรัมป์ และรัฐบาลของเขา กล่าวโจมตี WHO หลายครั้ง แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ และนักการเมือง พรรคเดโมแครตวิจารณ์ว่า รัฐบาลทรัมป์ พยายามโยนความผิดพลาด ในการรับมือกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ของตนเอง ซึ่งส่งผลเสีย ต่อการจัดการวิกฤติสาธารณสุข

นอกจากนี้ เขายังได้ลงนาม คำสั่งฝ่ายบริหาร อีกฉบับ เพื่อพาสหรัฐกลับเข้าร่วม ข้อตกลงปารีส ปี 2558 ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยไบเดนตวัดปลายปากกาภายในห้องทำงานประจำทำเนียบขาว หักล้างการตัดสินใจก่อนหน้านี้ของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว

“เรากำลังจะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในแบบที่เราไม่เคยทำมาก่อน” ไบเดนกล่าวก่อนลงนาม

ไบเดนยังเลือกจอห์น เคอร์รี อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งบ่งชี้ถึงความสำคัญของประเด็นนี้ในนโยบายต่างประเทศของเขา

ด้านอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN แสดงความยินดีกับการประกาศกลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ ระบุว่า “ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไบเดนดำเนินการนำสหรัฐ กลับเข้าร่วมข้อตกลงฯ อีกครั้ง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างรัฐบาล เมือง รัฐ ธุรกิจ และผู้คนทั่วโลก เผชิญหน้ากับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo