General

ตำรวจโชว์ฝีมือ จับ ‘ลูแปงไต้หวัน’ ต้นตำรับ ‘เคนมผง’ คาคอนโดหรูย่านอโศก

ตำรวจจับผู้ค้ายาเสพติดข้ามชาติ ฉายา “ลูแปง” ชาวไต้หวัน ขณะผลิต เคนมผง เตรียมส่งเอเยนต์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าสอบปากคำผู้ต้องหาชาวไต้หวัน นายโช วาย เชิน ฉายา “ลูแปงไต้หวัน” ด้วยตัวเอง ที่คอนโดมิเนียม​แห่งหนึ่ง ย่านอโศก ซึ่งถูกจับกุมได้ หลังตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ปส.) สืบสวนทราบว่า ผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับของไต้หวัน คดียาเสพติดหลายคดี โดยใช้ชื่อปลอม และหนังสือเดินทางหลายสัญชาติ

k1

จากการตรวจค้นห้องพัก พบ เคนมผง จำนวนมาก รวมถึง เคตามีน, เฮโรอีน, ไอซ์, ยาอี และยานอนหลับ พร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ผสมสารเสพติด เป็นเคนมผง และอาวุธปืน ขนาด 9 มม. เครื่องกระสุนปืน จำนวน 8 นัด อยู่ภายในห้อง

ขณะเข้าจับกุม ตำรวจพบผู้ต้องหากำลังผสมยาเคนมผง เตรียมจำหน่ายให้กับเอเย่นต์ค้ายาเสพติด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เบื้องต้นตำรวจสอบสวนพร้อมเร่งขยายผลว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีผู้เสียชีวิตจากการเสพเคนมผง ในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพมหานครก่อนหน้านี้หรือไม่

เคนมผง

เคนมผง

จากข้อมูลของบช.ปส. พบว่าประมาณเดือนตุลาคม 2563 บก.ปส.3 สามารถตรวจยึด เคนมผง เป็นครั้งแรก มีการซุกซ่อนอยู่ในกล่องขนมเตรียมส่งบริการขนส่งพัสดุ ปลายทางประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   ซึ่งการตรวจพิสูจน์ พบว่า มีส่วนผสมของยาเคตามีน และไอซ์ หรือที่เรียกว่า เคนมผง โดยคนร้ายได้ใช้ชื่อและนามสกุลปลอม
จนกระทั่ง ผบ.ตร.นำทีมสืบสวนชุดจับกุมของ บช.ปส.ไล่กล้องวรจรปิด จนกระทั่งพบภาพคนร้าย

จากนั้น ได้ออกหมายจับของศาลอาญาที่ 56/2564 ลงวันที่ 19 มกราคม 2564 ตามภาพวงจรปิดพบว่า คนร้ายลักษณะเป็นชาวจีน  ต่อมาสืบหาจนทราบชื่อภายหลังว่า นาย โช วาย เชิน (chou yi Shen) หรือ Mr.Liu chun chen ชาวไต้หวัน หลบกบดานในพื้นที่กรุงเทพฯ  โดยมีห้องพักอยู่ตามคอนโดหรูระดับ 5 ดาว ย่าน ลุมพินี , พระราม 9 , ทาวน์อินทาวน์ ,รามคำแหง และสุขุมวิท กรุงเทพฯ

เคนมผง

เคนมผง

นาย โช วาย เชิน ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามภาพวงจรปิดจริง โดยนายโช เป็นนักค้ายาเสพติดให้กับกลุ่มชาวต่างชาติ โดยได้สั่งยาเสพติดโคเคน 280 กรัม กัญชา 80 กรัม จากประเทศอเมริกา มายังไต้หวัน และได้ถูกทางการไต้หวันออกหมายจับดำเนินคดีข้อหาครอบครองยาเสพติด และส่งออก  จึงได้หลบหนีมายังประเทศไทยในปี 2556 โดยใช้หนังสือเดินทางปลอม ชื่อว่า Mr. CHOU Y SHEN แต่ยังคงค้ายาเสพติดต่ออีก

ผู้ต้องหายอมรับด้วยว่า เป็นผู้ผสมสารเสพติดที่เรียกกันว่า เคนมผง โดยมีสูตรการผสมปรากฏบันทึกอยู่ในโทรศัพท์  มีการผสมยาเสพติด จำนวน 3 ชนิด คือ ยาเค ยาอี และยานอนหลับ มาปั่นรวมกันให้เป็นผงละเอียด  สะดวกต่อการต่อเสพ วิธีการเสพใช้สูดดม เพื่อให้ออกฤทธิ์เร็วขึ้น และซึ่งถ้าเสพในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้

เคนมผง

k3

นอกจากนี้ ยังส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยใช้ผ่านดาร์กเว็บ และบิทคอย และมีการขายให้กับชาวต่างชาติ และคนไทย ทางออนไลน์  ตลอดจนมีวิธีการเปิดคอนโดหรูไว้หลายที่เพื่อความปลอดภัย และคิดว่าเจ้าหน้าที่ ตำรวจไม่สามารถจับกุมตน จนมีฉายาว่า “ลูแปง ไต้หวัน” แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศไทยจับกุมตัวจนได้

ยาเสพติด ที่เรียกว่า “เคนมผง” กลายเป็นชื่อที่ถูกพูดถึงกันอย่างมาก หลังจากมีการตรวจพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการเสพยาเสพติดชนิดนี้ ถึง 9 คนภายในคืนเดียว

ก่อนหน้านี้ นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบกลุ่มวัยรุ่นนำยาเค หรือ เคตามีน (ketamine) ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง มาผสมกับสารเสพติดอื่นอีกหลายชนิด เช่น ยาไอซ์ เฮโรอีน ยานอนหลับ (โรเซ่) จนมีลักษณะละเอียดคล้ายนมผง แล้วนำมาเสพ จึงถูกเรียกว่า “ยาเคนมผง” เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ผู้เสพมีอาการรุนแรง ประสาทหลอน คิดว่าจะถูกทำร้าย จนเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท

การเสพยาเคนมผง ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ผู้เสพเสียชีวิต และสามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะเสพเป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนี้พบผู้เสียชีวิต ที่อาจเกิดจากการเสพยาเคนมผง จำนวนหลายคน ในบางคนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ทางด้าน นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการ สถาบันบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า ยาเสพติดทุกประเภทส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อร่างกายของผู้เสพ ยิ่งมีการใช้ร่วมกันหลายชนิด ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง บางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต

เคนมผง

ในยาเคนมผง มีสารเสพติดที่ออกฤทธิ์รุนแรงหลายชนิด หนึ่งในส่วนผสมนั้นคือ เฮโรอีน ซึ่งออกฤทธิ์รุนแรงในทางกดประสาท หากเสพเฮโรอีนมากเกินความต้านทานของร่างกาย อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นถึงเสียชีวิตได้ ขอเตือนกลุ่มวัยรุ่นหรือผู้ที่คิดจะทดลองใช้ยาเคนมผง รวมไปถึงสารเสพติดชนิดอื่น ให้ตระหนักถึงอันตรายต่อตนเองอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

ทั้งนี้ แนะผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หรือคนในครอบครัว หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ให้รีบพูดคุยด้วยเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงอันตรายที่อาจจะตามมา

หากพบว่าบุตรหลาน หรือคนใกล้ชิดมีการเสพยา ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และสามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับยา และสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 และหรือเข้ารับการบำบัดรักษาที่สถาบันบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาค ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmindat.go.th

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo