Politics

อคส.ฉาวโฉ่! สอบข้อเท็จจริงซื้อถุงมือยาง – ผงะพบอีก ‘2 นักบริหารระดับ 8’ ร่วมทุจริต

สอบทุจริตซื้อถุงมือยาง 1.12 แสนล้าน ของ อคส. เสร็จแล้ว พบระดับนักบริหาร 8 โผล่อีก 2 ราย มีเอี่ยวกับอดีตรักษาการ ผอ.อคส.

สอบทุจริตซื้อถุงมือยาง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปผลสอบจัดซื้อถุงมือยาง 1.12 แสนล้าน ของ อคส. เสร็จแล้ว พบข้าราชการระดับนักบริหาร 8 โผล่อีก 2 ราย มีเอี่ยวกับอดีตรักษาการ ผอ.อคส. ที่มีพฤติกรรมกระทำความผิด ทั้งขัดระเบียบ ทำสัญญาหละหลวม เผยยังสาวไม่ถึงจอมบงการ ส่งเรื่องปปช.เชือดต่อแล้ว “เกรียงศักดิ์”  สั่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ขีดเส้น 30 วันรู้ผล หากผิดมีโทษทั้งทางแพ่ง-อาญา

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มีนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้ตรวจสอบกรณีที่ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ อดีตรักษาการผู้อำนวยการ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และพวก จัดซื้อถุงมือยางไนไตร 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจ่ายเงินค่ามัดจำสินค้า 2,000 ล้านบาท ให้กับ บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ผู้ผลิตถุงมือยาง เสร็จแล้ว

ได้ส่งผลตรวจสอบให้ นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส. คนปัจจุบัน  อคส.ได้ส่งผลตรวจสอบดังกล่าวให้กับ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประกอบการพิจารณาคดี ที่ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างดำเนินการ และได้ส่งให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาแล้ว

สำหรับผลการตรวจสอบ สรุปว่า มีเจ้าหน้าที่ อคส. ซึ่งอยู่ใน ระดับนักบริหาร 8 จำนวน 2 ร ส่วนใหญ่จะอยู่ในระะดับ “ผู้อำนวยการ” เกี่ยวข้องกับการกระทำของ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ที่มีพฤติกรรมใช้อำนาจพิจารณาอนุมัติโครงการจัดซื้อถุงมือยางโดยมิชอบ ทั้ง ๆ ที่ตามข้อบังคับ อคส. ว่าด้วยการค้าข้าว พืชผล และสินค้าต่างๆ เพื่อการค้าปกติพ.ศ. 2526 ถ้าวงเงินที่จะจัดซื้อสินค้า เกินอำนาจที่ผู้อำนวยการ อคส. จะอนุมัติได้ หรือเกินกว่า 25 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ให้เสนอขออนุมัติต่อประธานกรรมการ อคส. (บอร์ดอคส.) แต่พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ ไม่ได้เสนอให้พิจารณาอนุมัติ

สอบทุจริตซื้อถุงมือยาง

ทั้งนี้ ยังพบว่าไม่มีการเสนอเรื่องการจัดซื้อให้บอร์ด อคส. พิจารณาอนุมัติ แต่กลับใช้ดุลพินิจตีความกฎหมาย เพื่อให้ตนเอง  เป็นรักษาการผู้อำนวยการ มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติจัดซื้อและจ่ายเงินค่าถุงมือยางเอง และยังจงใจใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการ ทำสัญญาซื้อถุงมือยางกับ การ์เดียนโกลฟส์ และทำสัญญาขายกับผู้ซื้อทั้ง 7 ราย โดยที่สัญญาไม่ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด ถือเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2535 เรื่องการปรับปรุงแก้ไขมติ ครม. เกี่ยวกับการส่งร่างสัญญาให้ อสส. ตรวจพิจารณา

ขณะเดียวกัน อดีตรักษาการผู้อำนวยการอคส. ยังทำสัญญาให้ อคส. เสียเปรียบ โดยสัญญาที่ทำกับการ์เดียนโกลฟส์ กำหนดให้ อคส. ชำระเงินค่าสินค้าล่วงหน้าใน 3 วัน นับแต่วันลงนามในสัญญา แต่กลับกำหนดให้การ์เดียนโกลฟส์ ส่งมอบหลักประกันให้ อคส. ภายใน 7 วัน เป็นเหตุให้ อคส. ต้องจ่ายเงินล่วงหน้า 2,000 ล้านบาทก่อนได้รับวงเงินประกันสัญญา ทั้งที่โดยปกติ ต้องส่งมอบหลักประกันในวันทำสัญญา และยังไม่กำหนดงวดการส่งมอบถุงมือยาง รวมทั้งไม่ทำตามระเบียบ อคส. ว่าด้วยการจัดซื้อสินค้าเพื่อการค้าปกติพ.ศ.2561 ก่อนจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนงานที่รับผิดชอบต้องทำรายงานความจำเป็น และรายละเอียดต่างๆ ของการจัดซื้อเสนอให้ผู้อำนวยการพิจารณาอนุมัติ แต่กรณีนี้ ไม่มีการเสนอเรื่อง อีกทั้งยังไม่ออกประกาศเชิญชวนให้เสนอราคาจัดซื้อด้วย

สำหรับผลสอบ ยังโยงไม่ถึงตัวบุคคลสำคัญใน อคส. ที่เป็นผู้สั่งการให้ทั้ง 3 ราย จัดซื้อถุงมือยาง ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่ อคส. ทั้ง 2 ราย ที่เกี่ยวข้อง ได้ซัดทอดไปแล้วว่า เป็นผู้สั่งการ แต่เชื่อว่าการพิจารณาของ ป.ป.ช. น่าจะสาวถึงและน่าจะชี้มูลความผิดบุคคลสำคัญรายนี้ได้

ล่าสุด นายเกรียงศักดิ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยทั้งหมดแล้ว โดยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากพบว่า มีความผิดจริง จะตั้งคณะกรรมการขึ้นอีก 1 ชุด เพื่อพิจารณาลงโทษ แต่ในเบื้องต้น ทั้ง 3 ราย เข้าข่ายมีความผิดวินัยร้ายแรง แต่อคส. อาจมีคำสั่งให้พักงานไปก่อน

สอบทุจริตซื้อถุงมือยาง

สำหรับโทษของทั้ง 3 ราย หากพบว่ามีความผิดจริง กรณีทางแพ่ง จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา 11 ผู้ใดเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนกรณีทางอาญาจะมีความผิดตามพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ.2499 มาตรา 151 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อทำจัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท รวมถึงมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight