General

ราคาบุหรี่ ที่เพิ่มขึ้นทุก 10 บาท ลดเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลง 5%

ราคาบุหรี่ ทุก 10 บาท ลดเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลง 5% ในประชากรไทย ที่อายุน้อยกว่า 45 ปี ผลวิจัยชี้การควบคุมการสูบบุหรี่ จำกัดที่สูบ ลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยว่า จากผลการศึกษางานวิจัยเรื่อง การขึ้นภาษีบุหรี่ และมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะของประเทศไทย ต่ออัตราการป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ acute myocardial infarction ระหว่างปี 2549-2560 พบว่า ทุก ๆ 10 บาทของ ราคาบุหรี่ ที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลง 5% โดยเฉพาะในผู้ชาย ที่มีอัตราการสูบบุหรี่ ที่สูงกว่าผู้หญิง

ราคาบุหรี่

นอกจากนี้ยังพบว่า การประกาศมาตรการ ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ช่วยลดอัตราการเกิด โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ในประชากรไทยอายุน้อยกว่า 45 ปีได้ 13%

ปัจจุบัน คนไทยเสี่ยงเสียชีวิต จากภาวะหัวใจขาดเลือดอายุน้อยลง ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ในคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปี ส่วนใหญ่เกิดจาก พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะการสูบบุหรี่

จากข้อมูลพบว่า 90% ของคนอายุน้อยกว่า 45 ปี ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน มีประวัติการสูบบุหรี่ โดยการสูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงของ หลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพ หรือแข็งตัว ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการฉีกขาด หรือปริแตก ที่ด้านในของผนังหลอดเลือด ส่วนที่เสื่อมสภาพอย่างเฉียบพลัน จนเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในที่สุด

ขณะที่ มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทย ทั้งการขึ้นภาษี และการจำกัดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ ช่วยลดการสูบบุหรี่ และความสูญเสีย จากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน อันเป็นผลจากการสูบบุหรี่ ทำให้ประเทศไทยลดค่าใช้จ่าย ในการดูแลรักษา เฉพาะผู้ป่วยโรคดังกล่าว ไปได้กว่า 1,500 ล้านบาทในระหว่างปี 2553-2560

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า มาตรการควบคุมยาสูบ ต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเห็นผล จึงขาดความกระตือรือร้น ในการปฏิบัติตาม และการบังคับใช้กฎหมาย

แต่งานวิจัยชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นว่า มาตรการควบคุมยาสูบ เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และการขึ้นภาษีบุหรี่ สามารถส่งผลต่อการลดการเจ็บป่วย และเสียชีวิตในระยะสั้น ๆ

กรณีกฎหมาย ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ที่ส่งผลลดโรคหัวใจวายกระทันหัน เนื่องจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง แม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ จะส่งผลทันที ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยทำให้เกล็ดเลือดเกาะติดกันง่ายขึ้น มีการอักเสบของ เซลล์ผนังหลอดเลือด  และเลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง ของการเกิดหัวใจวายกระทันหัน จากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ดังนั้น งานวิจัยนี้ จึงเป็นเครื่องเตือนสติ ให้ผู้สูบบุหรี่ หยุดทำร้ายคนอื่น โดยไม่สูบบุหรี่ในที่ที่กฎหมายห้ามสูบ รวมถึงในบ้าน ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องจริงจัง กับการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะลดจำนวนคนที่จะเสียชีวิต  จากหัวใจวายกระทันหัน ได้เป็นจำนวนมาก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

ด้าน ดร. สแตนตัน แกลนซ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ผู้วิจัยร่วมในงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า การขึ้นภาษีบุหรี่ และการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลก ยกเป็นมาตรการควบคุมยาสูบที่คุ้มค่า และได้ผลดี

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลจากหลายประเทศ ที่ออกมาตรการดังกล่าว ก็พบผลลัพธ์อย่างเดียวกัน คือ ช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกระทันหัน และเป็นผลโดยตรงจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในคนที่อายุน้อย เพราะเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหว ต่อราคาบุหรี่ที่แพงขึ้น มากกว่าเมื่อมีการขึ้นภาษีบุหรี่

ส่วนมาตรการ ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะนั้น จะลดการเจ็บป่วย ของคนที่ได้รับ ควันบุหรี่มือสอง ซึ่งมีจำนวนมากกว่า คนที่สูบบุหรี่ โดยส่วนใหญ่ของคน ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง จะมักเป็นคนอายุน้อย ที่รับควันมือสอง ตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งจากคนในครอบครัว และในสถานที่สาธารณะ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo