Politics

สธ.แจงชัด! ทำไมไทยไม่ได้รับวัคซีนฟรีจากองค์การอนามัยโลก

“กระทรวงสาธารณสุข” แจงชัด! ทำไมไทยไม่ได้รับวัคซีนฟรีจาก “องค์การอนามัยโลก” ยันไทยไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรีอยู่แล้ว ด้าน “WHO” เตรียมส่งวัคซีนให้ประเทศยากจนเดือนหน้า

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ COVAX (โคแวกซ์) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และกำลังจะส่งให้วัคซีนของไฟเซอร์แก่ประเทศสมาชิกที่ยากจนกว่า ซึ่งเข้าร่วมโครงการกว่า 40 ล้านโดสว่า ในการจัดหาวัคซีนมีการวางแผนเข้าร่วมกับโครงการโคแวกซ์ตั้งแต่แรก แต่ในการเจรจานั้น โครงการนี้เป็นโครงการที่ให้วัคซีนฟรีกับประเทศยากจน ซึ่งทางโครงการจัดประเทศไทยอยู่ในประเทศรายได้ปานกลาง จึงไม่ได้รับฟรีตรงนี้

โอภาส241

หากจะเข้าร่วมก็ต้องนำเงินไปร่วมลงขันในการจัดหาวัคซีน ซึ่งโครงการก็ยังไม่ได้ระบุว่า จะเอาวัคซีนตัวไหนมา และก็ยังไม่มีวัคซีนตัวใดที่มีความคืบหน้ามาก เพียงแต่บอกให้ไทยเอาเงินไปร่วมลงขัน เมื่อได้มาแล้ว ก็จะได้วัคซีนในรูปแบบของการซื้อในราคาตามปกติ ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่ได้เงินคืน จึงเป็นเรื่องยากในการที่จะเอาเงินไปลงตรงนั้น

“เราไม่ได้ทิ้งเรื่องของการเจรจาในโครงการโคแวกซ์ ซึ่งขณะนี้วัคซีนเริ่มทยอยออกมา เราคุยกันอยู่เรื่อย ๆ ในเรื่องข้อมูลต่าง ๆ อาจจะสามารถแบ่งให้ประเทศไทยซื้อได้หรือไม่ในราคาต้นทุน หรือราคาถูก แต่ประเทศไทยไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรีอยู่แล้ว” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 นายทีโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า โครงการโคแวกซ์ (COVAX – Covid-19 Vaccines Global Access Facility) บรรลุข้อตกลงกับบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคแล้วว่า ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะส่งวัคซีนของไฟเซอร์จำนวน 40 ล้านโดสให้แก่ประเทศยากจนกว่าที่เข้าร่วมโครงการ และตั้งเป้ากระจายวัคซีนให้ได้ 2 พันล้านโดสภายในปีนี้

โครงการโคแวกซ์ ริเริ่มโดยองค์การอนามัยโลก พันธมิตรวัคซีนกาวี (Gavi the Vaccine Alliance) และกลุ่มแนวร่วมนวัตกรรมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) มีเป้าหมายเพื่อแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมกันทั่วโลก ตอนนี้มี 92 ประเทศ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ รายได้ต่ำ รายได้ปานกลาง-ต่ำ และอื่นๆ ซึ่งเป็นสมาชิกโคแวกซ์แล้วและเข้าข่ายจะได้รับการสนับสนุนวัคซีน

“การแจกจ่ายวัคซีนอย่างเร่งด่วนและเป็นธรรม ไม่ใช่แค่ข้อบังคับทางศีลธรรม แต่ยังเป็นข้อบังคับทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจด้วย ข้อตกลงกับไฟเซอร์นี้จะช่วยทำให้โคแวกซ์รักษาชีวิตผู้คน ทำให้ระบบสุขภาพมีเสถียรภาพและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก” ผู้อำนวยการ WHO กล่าว

ทั้งนี้ วัคซีนลอตแรกที่จะใช้ เป็นของบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งพ้นจากวัคซีนลอตนี้แล้ว เซธ เบิร์คลีย์ ซีอีโอของกองทุนพันธมิตรวัคซีนกาวี ยืนยันว่า จะมีวัคซีนของแอสตราเซเนกาอีก 150 ล้านโดสภายในไตรมาสแรกของปี 2021 โดย 100 ล้านโดสจะมาจากข้อตกลงการผลิตร่วมกับสถาบันเซรั่มของอินเดีย โดยขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบเพื่อรับรองความปลอดภัย ส่วนอีกอย่างน้อย 50 ล้านโดส เป็นข้อตกลงกับแอสตราเซเนกา

ทั้งนี้ ประเทศอาเซียนที่ลงนามเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์แล้วได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน กัมพูชา พม่า ลาว อินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทยอยู่ระหว่างการแจ้งความจำนงขอเข้าร่วม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo