Economics

ประสานเสียง ‘ส่งออกไทย’ ปีนี้ขยายตัวแดนบวก หลังปี 63 ติดลบ!

ส่งออกไทยปีนี้ “กระทรวงพาณิชย์” คาดขยายตัว 4% รับแรงหนุนการกระจายวัคซีน – มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองขยายตัว 3% ด้าน “TMB Analytics” ประเมินขยายตัว 3.4%

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มการ ส่งออกไทยปีนี้ ได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ 4.0% เนื่องจากได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ที่ช่วยให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น

ประกอบกับนโยบายการค้าของสหรัฐ ที่คาดว่า จะกลับมายึดถือ ตามกติกาของ WTO จะช่วยให้การแก้ปัญหาความขัดแย้ง จากสงครามทางการค้ามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงกลุ่มความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ก็เป็นที่คาดหมายว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิกรวมถึงไทย

ขณะที่ปัจจัยลบต่อการส่งออก ได้แก่ ค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสำหรับสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคา รวมถึงอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า

ส่งออกไทยปีนี้

ทั้งนี้ ภาพรวมการ ส่งออกเดือน ธันวาคม 2563 มีมูลค่า 20,082.74 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.71% ขณะที่ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2563 (มกราคม–ธันวาคม) มีมูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์ หดตัว 6.01%

ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิดในต่างประเทศ รวมถึงไทยจะยังไม่คลี่คลาย แต่ความหวังในเรื่องวัคซีน มาตรการปิดเมืองที่มีความเข้มงวดน้อยลง เมื่อเทียบกับการระบาดรอบก่อน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่ออกมาเพิ่มเติม ส่งผลให้ส่งออกไทยในเดือน ธันวาคม 2563 พลิกกลับมาเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดยขยายตัวอยู่ที่ 4.71% YoY จากเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่หดตัว 3.65% YoY นอกจากนี้ เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธฯ ขยายตัวที่ 5.81% บ่งชี้ว่าในภาพรวมการส่งออกเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ การส่งออกไทยในเดือน ธันวาคม 2563 ส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ได้รับปัจจัยหนุนหลักจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกจะเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว ภาคการผลิตเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น แต่ทิศทางการส่งของไทยในระยะข้างหน้า ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนอีกหลายปัจจัย หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในหลายประเทศ ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความไม่แน่นอนในเรื่องวัคซีนยังมีอยู่ ทั้งในเรื่องของการแจกจ่ายวัคซีน รวมถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้วัคซีน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลกยังทำได้เพียง 0.5% ของประชากรโลก บ่งชี้ว่าแม้เริ่มมีการแจกจ่ายและเริ่มการฉีดวัคซีนแล้วในหลายประเทศแต่การจะแจกจ่ายและการฉีดจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่นั้นยังคงต้องใช้เวลา ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ายังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ไปอีกสักระยะ

ส่งออกไทยปีนี้

นอกจากนี้ การส่งออกของไทย ยังได้รับปัจจัยกดดันจากการขาดแคลนตู้สินค้า และค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นกดดันต่อการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2564 ขณะที่การเข้าไปอยู่ในบัญชี Monitoring List ของกระทรวงการคลังสหรัฐของไทย จะทำให้สถานการณ์การแข็งค่าเงินบาท เป็นโจทย์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่า และมีความผันผวนมากขึ้น ย่อมมีผลกระทบต่อการส่งออก ทั้งนี้ ท่ามกลางปัจจัยกดดันที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินทิศทางการส่งออกไทยในปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ 3.0%

ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics คาดปี 2564 ภาคการส่งออกไทยฟื้นตัวดีขึ้นเติบโต 3.4% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น และการขึ้นรับตำแหน่งของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ที่ทำให้แนวโน้มสงครามการค้าโลกผ่อนคลายลง

หลังปี 2563 ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวติดลบ 6.9% ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบีหรือ TMB Analytics ประเมินการส่งออกของไทยสำหรับปี 2564 ว่ามีโอกาสฟื้นตัวดีขึ้นมีและเติบโตได้ถึง 3.4% จากการฟื้นตัวของกำลังผลิตภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญ และแนวโน้มสงครามการค้าโลกที่ผ่อนคลายลงจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ โจ ไบเดน

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มภาพการส่งออกของไทยจะดีขึ้นแต่ไทยยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและความไม่แน่นอนในเรื่องของค่าเงินบาทแข็งตัว ความผันผวนของตลาด และภาวะการแข่งขันสูงในตลาดโลกอยู่ การเข้ามามีบทบาท ในการดำเนินการเจรจาด้านการค้าระหว่างประเทศของภาครัฐ จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้ประกอบการไทย สามารถเข้าถึงและขยายช่องทางการขายไปยังตลาดใหม่ๆ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo