Travel

เมื่อวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่นกำลังพัง เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

japan lifestyle geisha 010 m 0
ภาพ: เอเอฟพี

นักท่องเที่ยวมาก ๆ ใช่ว่าจะดี ผลสำรวจชี้ ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในเมืองเก่าเช่นเกียวโต หรือคามาคูระ กำลังเผชิญปัญหา และไม่ได้รับความสะดวกในการพักอาศัยมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในเมืองมากเกินไป

จากกรณีที่ทางการญี่ปุ่นตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวว่าจะต้องแตะ 40 ล้านคนในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ญี่ปุ่นจัดมหกรรมโอลิมปิคในกรุงโตเกียว มีรายงานว่าสำนักงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่น  (เจทีเอ) ได้ส่งแบบสำรวจไปยังเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นจำนวน 50 เมือง เพื่อสอบถามปัญหาเกี่ยวกับการมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากว่าทำให้ทางเมืองเกิดความติดขัด หรือไม่สะดวกในจุดใดบ้าง
เมืองเก่าเช่น เกียวโต และคามาคูระ มีรายงานว่า ชาวเมืองขึ้นรถเมล์ที่ให้บริการในเมืองไม่ได้ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลมาร่วมขึ้นด้วย ส่วนทางเดินก็คลาคล่ำไปด้วยผู้คน นอกจากนั้น ยังทำให้สภาพการจราจรในเมืองติดขัดอย่างหนักต่อเนื่องมานานหลายปีด้วยเช่นกัน
นายมาซารุ ทาคายาม่า ประธานของ Spirit of Japan ในเกียวโต กล่าวว่า มีหลักฐานประจักษ์ชัดว่า การมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมากส่งผลกระทบต่อชาวเมือง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ขึ้นรถเมล์ไม่ได้
“พฤติกรรมบางอย่างของนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่เป็นผลดีกับการอยู่อาศัยของชาวเมือง ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวบางราย เคยกั้นไม่ให้เกอิชาข้ามถนนได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้ถ่ายรูปกับเธอ และบางคนก็ถอดเครื่องประดับผมของเกอิชาเล่นด้วย” นายทาคายามากล่าว
อีกหนึ่งประเด็นที่พบได้มากขึ้นในเมืองเก่าเหล่านี้ก็คือ ผู้อยู่อาศัยได้เปลี่ยนบ้านของตนเองมาให้เช่าแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งกระทบต่อเพื่อนบ้านที่ได้รับความไม่สะดวกจากนักท่องเที่ยวเหล่านั้น เช่น อาจทำเสียงดัง หรือไม่เข้าใจรูปแบบการอยู่อาศัยตามวิถีของชาวญี่ปุ่น

สุดท้ายคือเรื่องของการทิ้งขยะ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจขาดวินัย และวางขยะทิ้งไว้ตามจุดต่าง ๆ ของเมือง ทำให้เกิดภาพที่ไม่สวยงาม และกระทบต่อภาพพจน์ด้านความสะอาดของญี่ปุ่นได้

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ทราบความลำบากที่ชัดเจนกว่านี้ ทางเจทีเอยังมีแผนจะขยายการส่งแบบสอบถามไปยังอีก 150 เมืองในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

ส่วนแนวทางแก้ไข ในเบื้องต้นได้มีการจับมือกับทริปแอดไวเซอร์ (TripAdvisor) ทำแคมเปญโปรโมตการท่องเที่ยวญี่ปุ่นรูปแบบใหม่ เช่น พยายามหาจุดน่าสนใจโปรโมทการท่องเที่ยวกระจายไปตามช่วงต่าง ๆ ของปี เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวมากระจุกตัวกันเฉพาะในบางเทศกาลมากเกินไป รวมถึงพยายามหาจุดน่าสนใจในเมืองใหม่ ๆ มาดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่มาญี่ปุ่นหลายครั้งแล้ว ให้กระจายไปตามเมืองเล็ก ๆ มากขึ้น

หรือในเมืองเก่าเช่น เกียวโต ได้มีการออกกฎหมายด้านภาษีแบบใหม่สำหรับธุรกิจโรงแรม ที่จะเรียกเก็บจากนักท่องเที่ยวแตกต่างกันไปตั้งแต่ 200 – 1,000 เยน ขึ้นอยู่กับสิ่งอำนวยความสะดวกที่นักท่องเที่ยวต้องการได้รับ 
อย่างไรก็ดี สำหรับรายได้จากการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นนั้น รายงานจากแมคคินซีย์ระบุว่า มีส่วนแบ่งในมูลค่าจีดีพีของญี่ปุ่นเพียง 0.5% เท่านั้น (แม้จะมีตัวเลขนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนก็ตาม) ขณะที่ประเทศไทย รายได้จากการท่องเที่ยวถือเป็น 10.4% ของจีดีพี ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นแล้ว หากวิถีชีวิตของประชากรในประเทศกำลังถูกนำมาแลกกับตัวเลขจีดีพีที่ต่ำเช่นนี้ ก็อาจไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมนัก
ไม่เพียงเท่านั้น ญี่ปุ่นยังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้ประเทศมีปัญหาด้านแรงงานที่ธุรกิจจะต้องจัดหามาเพิ่มเติมเพื่อรับรองนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และหลังจากปี 2563 ไปแล้ว ก็ไม่มีความชัดเจนว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะยังสูงต่อเนื่อง หรือว่าจะลดลงด้วย
แมคคินซีย์คาดการณ์ว่า ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 ของญี่ปุ่นคาดว่าจะอยู่ที่ 8 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2558 ที่อยู่ที่ 3.5 ล้านล้านเยน (จำนวนนักท่องเที่ยว 19.7 ล้านคน) 

สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวญี่ปุ่นในปีที่แล้วนั้น ตัวเลขจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจเอ็นทีโอ) ระบุว่า อยู่ที่ 28.7 ล้านคน

ที่มา: South China Morning Post 

Avatar photo