Environmental Sustainability

การเกษตรแบบพันธสัญญา เพื่อความยั่งยืนของโรงไฟฟ้าและชุมชน

การส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล (Biomass) ในประเทศไทย ถือเป็นอีกโครงการสำคัญที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากจะเกิดความมั่นคงในระบบไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน

แต่การจะผลักดันให้การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลประสบความสำเร็จได้นั้น ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และหนึ่งในแนวทางที่ภาครัฐกำลังให้ความสำคัญ คือการใช้กลไก ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เข้ามาดำเนินการให้โครงการต่าง ๆ บรรลุเป้าหมาย

ระบบเกษตรพันธสัญญา

ระบบเกษตรพันธสัญญา คืออะไร

ระบบ เกษตรพันธสัญญา ตาม พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 หมายความว่า ระบบการผลิตผลิตผล หรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรประเภทเดียวกันระหว่าง “ผู้ประกอบธุรกิจ” กับ “ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม” ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ที่มีอาชีพเกษตรกรรม

ระบบเกษตรพันธสัญญา

ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรจะมีการทำข้อตกลงซื้อขายผลิตผลต่าง ๆ ทั้งปริมาณ คุณภาพ ราคา หรือระยะเวลาที่กำหนดไว้ ภายใต้สัญญาอย่างชัดเจน

ภายใต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังมีข้อกำหนดสำคัญ ที่นำไปสู่แนวทางปฏิบัติ ได้แก่ การกำหนดให้ต้องจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อกำหนดรูปแบบสัญญาในระบบ เกษตรพันธสัญญา และส่งเสริมให้นำรูปแบบสัญญาดังกล่าวไปใช้

ส่งเสริมให้มีการทำประกันภัยในระบบ เกษตรพันธสัญญา รวมถึงต้องมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และนำสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ หรือนำคดีไปสู่ศาลได้ ตลอดจนมีบทกำหนดโทษปรับในกรณีความผิดต่าง ๆ กำกับไว้ด้วย

โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในกระบวนการผลิตไฟฟ้าระดับชุมชน ที่มุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของไฟฟ้า และยังสามารถขายวัสดุทางการเกษตร หรือพืชพลังงานเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้เกิดรายได้ที่มั่นคง กระตุ้นเศรษฐกิจ และเกิดการจ้างงานในระดับท้องถิ่น

ระบบเกษตรพันธสัญญา

ตามมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง โดยมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (SCOD) ภายใน 36 เดือน นับจากลงนาม สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement: PPA) แบ่งเป็น เชื้อเพลิงชีวมวล ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายรับซื้อ 75 เมกะวัตต์ และ เชื้อเพลิงชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย น้อยกว่าหรือเท่ากับ 25%) ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายรับซื้อ 75 เมกะวัตต์

หัวใจสำคัญของโครงการนี้ ภาครัฐได้กำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีแผนการจัดหาเชื้อเพลิงโดยมีสัญญารับซื้อเชื้อเพลิง ในราคาประกันกับวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบ ระบบ เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)

ในสัญญาจะต้องมีการระบุข้อมูลปริมาณการรับซื้อพืชพลังงาน ระยะเวลาการรับซื้อพืชพลังงาน คุณสมบัติของพืชพลังงาน และราคารับซื้อพืชพลังงานไว้ในสัญญาด้วย โดยพืชพลังงานที่จะนำมาใช้ จะต้องได้มาจากการปลูกโดยวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรบริเวณใกล้เคียง อย่างน้อย 80% และผู้ประกอบการสามารถจัดหาเองได้ไม่เกิน 20%

ทั้งนี้ตามมติ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ยังได้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ให้ควรบูรณาการร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการใช้ประโยชน์จากพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ จากการปลูกไม้โตเร็วเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน และควรประสานงานกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องพื้นที่แนะนำในการปลูกไม้โตเร็วสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า

เหตุผลสำคัญที่ภาครัฐ กำหนดให้ต้องมี ระบบ เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เนื่องจากมีประสบการณ์พัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในอดีตที่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากปริมาณวัสดุชีวมวลเพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จและล้มเหลวของระบบ เกษตรพันธสัญญา คือ

  • การเพิ่มขึ้นของโรงงานไฟฟ้าชีวมวล
  • พฤติกรรมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของเกษตรกรไปตามความต้องการของตลาด
  • พื้นที่การเกษตรลดลงจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพเมือง
  • วัสดุชีวมวลนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและเป็นไปตามฤดูกาล
  • ภัยพิบัติที่ส่งผลต่อพื้นที่การเกษตรเสียหาย

จึงเป็นสาเหตุให้ราคาวัสดุชีวมวลมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้การลงทุนระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และยากต่อการแข่งขันกับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนอื่น

ดังนั้น ระบบ เกษตรพันธสัญญา จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล เพราะมีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร หรือเจ้าของฟาร์ม กับ คู่สัญญา คือ “ผู้รับประกัน” ซึ่งข้อดีของการทำเกษตรพันธสัญญา จะทำให้เกษตรกรมีผลผลิตขายแน่นอน และสามารถนำวัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นการประกันรายได้ และประกันราคาสินค้าล่วงหน้า ลดความเสี่ยงราคาวัตถุดิบตกต่ำ

ภายใต้หลักการนี้ ทาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอแนะหลักการทำ ระบบ เกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ให้สำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ เช่น บริษัทต้องเลือกเกษตรกรที่มีความชำนาญ เกษตรกรต้องเลือกบริษัทที่มีความชำนาญ เกษตรกรต้องเลือกลักษณะสัญญาให้เหมาะสมกับตนเอง ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจความเสี่ยงของกันและกัน ทั้งความเสี่ยงด้านการผลิตและการตลาด มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ รวมไปถึงนักวิชาการ และสื่อมวลชนด้วย ที่ต้องมีความเชื่อถือระหว่างกัน

ระบบเกษตรพันธสัญญา

จากงานวิจัยของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 มกราคม–มิถุนายน 2562 ในหัวข้อ “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเกษตรแบบพันธสัญญาของ ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวลของไทย” ได้เผยแพร่ผลสำรวจการตัดสินใจในการทำเกษตรแบบพันธสัญญาของผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวลของไทย โดยเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวลของไทย 113 ราย มีข้อสรุปที่น่าสนใจ ดังนี้

คุณสมบัติของผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวล มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจการทำเกษตรแบบพันธสัญญา เพื่อสร้างความเข้าใจในจุดมุ่งหมายของการดำเนินธุรกิจที่ต้องพัฒนาร่วมกัน การลดอุปสรรค การลดต้นทุนวัตถุดิบ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการแข่งขัน

การตัดสินใจทำการเกษตรแบบพันธสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวล มีปัจจัยที่จะต้องพิจารณาให้ความสำคัญ 3 ลำดับแรก ซึ่งปัจจัยที่มีอิทธิพลทางตรง คือ

1. ปัจจัยด้านความสามารถในการแข่งขันกับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอื่น
2. ปัจจัยด้านวัสดุชีวมวลที่ใช้สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้า
3. ปัจจัยด้านศักยภาพของเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญา

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ปัจจัยที่มีอิทธิพลทางอ้อม คือ

1. ปัจจัยด้านนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าชีวมวลของรัฐบาล
2. ปัจจัยด้านการยอมรับของชุมชนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

การเกษตรแบบพันธสัญญาเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ในการบริหารจัดการ แต่อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการจะประสบความสำเร็จได้นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิต ความสามารถในการบริหารจัดการ และการใช้เครื่องมือในการบริหารจัดการ ตลอดจนข้อตกลงหรือพันธสัญญาที่เป็นธรรม และมีความเหมาะสมกับทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรคู่สัญญา

นอกจากนี้ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานไฟฟ้าชีวมวลยังต้องรู้จักการประยุกต์ใช้ และบูรณาการเครื่องมือด้านการบริหารจัดการต่าง ๆ ร่วมกันอย่างเหมาะสม และถูกต้องเข้ากับสถานการณ์

ขณะที่รัฐบาลก็จะต้องดำเนินนโยบายตามที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ เพื่อจะได้พัฒนาธุรกิจพลังงานชีวมวลในการผลิตไฟฟ้า ให้เป็นไปตามเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นแหล่งพลังงานหลักของประเทศ

ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปตระหนักในเรื่องการประหยัด ลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการใช้พลังงาน

อย่างไรก็ตามการเกษตรแบบพันธสัญญา สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งภาครัฐจะเปิดยื่นเสนอโครงการในช่วงต้นปี 2564 จะเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้นั้น ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าและเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงาน จำเป็นต้องศึกษาหลักการ และข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ที่ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดออกมารองรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ให้ชัดเจนในรายละเอียด และวิธีปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนที่จะตามมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight