Finance

ลุย!! ถึงเวลาเดินหน้าลงทุน ‘กองทุนทริกเกอร์ฟันด์’

ถึงเวลาลุย “กองทุนทริกเกอร์ฟันด์” เป้าหมายสำคัญ 2 ปัจจัย คือ ผลตอบแทนและเวลาที่กำหนด

การลงทุนของกองทุนในปี 61v2 01

ในช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยอยู่ระหว่างการพักฐาน และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นมากกว่าปรับลง เพราะยังไม่มีปัจจัยเชิงลบในประเทศที่จะทำให้เป็นแรงกดดันดัชนีหุ้นไทย ปรับตัวลดลงในระยะยาว จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมกับการเข้าลงทุนใน กองทุนทริกเกอร์ฟันด์ หรือ กองทุนที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยเป้าหมายมีสองอย่างก็คือ ผลตอบแทน และเวลาที่กำหนด

ที่ผ่านมา บลจ.จะมีการเสนอขายทริกเกอร์ในช่วงที่ดัชนีหุ้นพักฐาน และมีแนวโน้มว่าดัชนีจะปรับตัวขึ้นได้ในระยะเวลาไม่นาน และช่วงนี้เริ่มจะเห็นสัญญาณของการเกิดทริกเกอร์ฟันด์ กองใหม่ๆ ทยอยออกมาขายกันแล้ว สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุน เพื่อหวังผลตอบแทนตามที่กองทุนระบุไว้ สามารถเลือกช้อปได้ตามความสนใจในตอนนี้

บล.กสิกรไทย ประเมินว่า การปรับลงอย่างรุนแรงของดัชนีหุ้นไทยในรอบนี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดกอง Trigger Fund กองใหม่ เพื่อเข้าเก็งกำไรในระยะสั้น และยังมีความเป็นไปได้สูงที่เริ่มเห็นการส่งคำสั่งซื้อกองทุน LTF เข้ามาในตลาดอย่างคึกคัก

ปัจจุบันมีการออกกอง Trigger Fund ขึ้นแล้ว และ ตั้งเป้าหมายเลิกโครงการเมื่อหน่วยลงทุนมีมูลค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 10.50 บาทต่อหน่วย (หรือมีกำไร 5%) ภายในเวลาไม่เกิน 5 เดือน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสนใจว่าคำชี้ชวนการลงทุนในกองดังกล่าว มีการคาดการณ์เป้าหมาย ดัชนีหุ้นไทยที่ระดับ 1,790 จุดภายในสิ้นปี ดังนั้นหากต้องการกำไร 5% ตามเป้าหมายดังกล่าว กอง Trigger Fund นี้จะต้องเริ่มเข้าซื้อ เมื่อดัชนีอยู่ต่ำกว่า 1,700 จุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับไปดูผลงานในอดีต กอง Trigger Fund ประเภทนี้เคยทำงานได้ดีมาแล้วในช่วงที่ดัชนีปรับฐานหนักในช่วงปลายมิถุนายน 2561 โดยมีการเสนอขายเมื่อ 21 – 26 มิถุนายน 2561 และเริ่มเข้าซื้อตอนนั้น ดัชนีหุ้นไทยลงต่ำกว่า 1,600 จุด และสามารถขายทำกำไรได้ตามเป้าหมาย 1,660 – 1,680 จุด

นอกจากนั้นการปรับฐานอย่างรุนแรงของดัชนีหุ้นไทยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 เชื่อว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดคำสั่งซื้อกองทุน LTF มากยิ่งขึ้น ที่น่าสนใจคือ คำสั่งซื้อดังกล่าวมักจะมีผลให้กองทุนในประเทศเข้าซื้อสุทธิหนักในอีก 2 วันทำการให้หลัง เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้น เมื่อดัชนีได้ปรับลงในวันที่ 8 ตุลาคม 2561 กว่า 1.4% จนดัชนีหลุดลงต่ำกว่า 1,700 จุด ตลาดเกิดคำสั่งซื้อและกองทุนได้เข้าซื้อสุทธิในวันที่ 10 ตุลาคม 2561 กว่า 4.7 พันล้านบาท

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า ขณะนี้บลจ.ไทยเริ่มทยอยประกาศขายกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ ได้แก่  SCBAM วงเงิน 2 พันล้านบาท และ TISCOAM วงเงิน 2 พันล้านบาท ระดับทริกเกอร์ 5% ในหุ้นไทย สะท้อนกลับมาเป็นเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยที่ราว 1,770 – 1,780 จุด

สำหรับประเด็นทริกเกอร์ฟันด์นั้น ฝ่ายวิจัยมองว่ากองทุนจะมุ่งไปยังหุ้นขนาดใหญ่ และขนาดกลางที่ราคาหุ้นปรับตัวลงมาแรงในช่วงก่อนหน้านี้ ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง เช่น หุ้น SCC / GPSC / SCB/ BJC/ ROBINS/ TU/ PTTEP เป็นต้น

ในเชิงกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัยได้แนะนำให้นักลงทุนที่ทยอยสะสมหุ้นหลักมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเพื่อรอขายทำกำไรรอบสั้นบริเวณ 1,720 – 1,730 จุด บางส่วน ส่วนนักลงทุนที่ลดน้ำหนักการลงทุน แนะนำให้เลือกทยอยสะสมหุ้นขนาดกลางที่คาดว่าจะได้อานิสงส์จากเม็ดเงินกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ในรอบนี้เป็นสำคัญ

บล.ทิสโก้ มองว่า ดัชนีหุ้นไทย มีแนวโน้มขยับขึ้นตามบรรยากาศเชิงบวก มุมมองหุ้นไทยยังต้านแรงเสียดทานจากปัจจัยภายนอกได้ดีด้วยพื้นฐานศก.ที่แข็งแกร่ง, แนวโน้มการเลือกตั้งปีหน้า และเม็ดเงินภายในประเทศทั้งจาก LTF&RMF เริ่มทยอยไหลเข้า รวมทั้งเม็ดเงินจากทริกเกอร์ฟันด์กองใหม่ๆ ที่จะทยอยไหลเข้ามาในระยะนี้

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าในเดือนตุลาคม 2561 กองทุนมียอดซื้อสุทธิ 4,626.88 ล้านบาท  แต่หากดูภาพรวมการลงทุนทั้งปี มียอดซื้อสุทธิอยู่ที่ 145,258.97  ล้านบาท

หากพิจารณาเป็นรายเดือน การลงทุนของกองทุนในปี 2561 จะเห็นว่ามียอดซื้อสุทธิทุกเดือน โดยเดือนมกราคมซื้อสุทธิ 5,430.29 ล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์ซื้อสุทธิ 834.39 ล้านบาท เดือนมีนาคม 9,812.15 ล้านบาท เดือนเมษายน 15,551.71 ล้านบาท เดือนพฤษภาคม 23,167.25 ล้านบาท เดือนมิถุนายน 22,175.51 ล้านบาท เดือนกรกฎาคม 34,095.00 ล้านบาท เดือนสิงหาคม 12,611.14 ล้านบาท เดือนกันยายน 16,954.64 ล้านบาท และล่าสุดเดือนตุลาคม 4,626.88 ล้านบาท

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ในเดือนตุลาคม 2561 มีกองทุนในรูปแบบต่างๆ อยู่ระหว่างการเสนอขาย ประกอบด้วย กองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 204 ,กองทุนเปิดเค เวียดนามหุ้นทุน, กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน FU กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 1 ปี FH, กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 3 เดือน BF,กองทุนเปิด ทิสโก้ ไทย อิควิตี้ ทริกเกอร์ 5M#3, กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ต่างประเทศ 3MC6 ,กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6MK1 ,กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ต่างประเทศ 1YK2

กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล อินโนเวชั่น ฟันด์, กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 33/18,กองทุนรวมบัวหลวงตราสารหนี้ชนิดระบุวันครบกำหนด 1/18  กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี พันธบัตรรัฐบาล มุ่งรักษาเงินต้น 8 เดือน ซีรี่ส์ 1,กองทุนเปิด แอสเซทพลัส อินเดีย ไดนามิกส์ อิควิตี้ ,กองทุนเปิด แอสเซทพลัส อีโวลูชั่น ไชน่า อิควิตี้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight