Business

นโยบาย ‘ไบเดน’ โอกาสไทย ค้าขาย-ลงทุน สหรัฐ พาณิชย์ ตั้งเป้าส่งออกเพิ่ม 4%

นโยบาย ไบเดน เพิ่มโอกาสไทย​ขยายการค้า และการลงทุนในสหรัฐ ทดแทนสินค้าจีน “พาณิชย์” เตรียมอัดกิจกรรมเต็มสูบ เน้นเกษตร อาหาร คาดส่งออกสหรัฐเพิ่ม 4%

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตาม นโยบาย ด้านการค้าของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ พบว่า สหรัฐ มีนโยบายลดการพึ่งพาต่างชาติด้วยการสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ เช่น เวชภัณฑ์ สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง

นโยบาย ไบเดน

นอกจากนี้ ยังมีนโยบาย ย้ายฐานการผลิตคืนสู่สหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนนโยบาย Buy America และจะลดความตึงเครียดจากสงครามการค้าด้วยการใช้วิถีทางของกฎหมายทางการค้า แต่ยังไม่เปิดเจรจาการค้าใดๆ รวมทั้งจะยกเลิกนโยบายโดดเดี่ยวหันมาสร้างพันธมิตร ให้ความสำคัญกับการต่อสู้โลกร้อน และผ่อนคลายเรื่องแรงงานต่างชาติ เป็นต้น

ในกรณีของจีน จะไม่ยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยทันที แต่อาจดำเนินการใน ลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และมีแนวโน้มต่อนโยบาย ในเรื่องการเข้มงวดกับการขายสินค้าเทคโนโลยี และเซมิคอนดักเตอร์ให้แก่จีน และการจำกัดการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงจากจีน

ส่วนสหภาพยุโรป (อียู) นายไบเดน ไม่มีนโยบายทำสงครามการค้า เน้นการฟื้นฟูมิตรภาพ แต่ยังต้องแก้ปัญหาความไม่สมดุลการค้าสินค้าเกษตร ในส่วนที่เกี่ยวกับ เม็กซิโกและแคนาดา เห็นว่า สนธิสัญญา USMCA (United States-Mexico-Canada) เป็นข้อตกลงที่ดีกว่า NAFTA (North American Free Trade Agreement) ในด้านสิ่งแวดล้อม

ขณะที่เอเชียยังไม่แสดงความเห็นการเข้าร่วม RCEP และ CPTPP แต่นโยบายจะให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น รวมถึงมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์และร่วมมือกับ WTO มากขึ้น

จากการวิเคราะห์ นโยบายของนายไบเดน คาดว่า จะส่งผลดีทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐ กับกลุ่มประเทศเอเชียดีขึ้น สร้างโอกาสเพิ่มความร่วมมือทางการค้าการลงทุนของธุรกิจสหรัฐ ในไทย และช่วยเพิ่มโอกาสให้ไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าที่มีมาตรการทางการค้าสูง หรือไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยใช้สหรัฐ เป็นฐานการผลิต

สมเด็จ
สมเด็จ สุสมบูรณ์

ขณะเดียวกัน คาดว่าจะได้รับผลดีจากการที่สหรัฐ ไม่ยกเลิกภาษีนำเข้าจากจีนในทันที ทำให้ไทยยังสามารถใช้ประโยชน์ส่งออก ที่ไปทดแทนสินค้าจากจีนได้

อย่างไรก็ตาม คงจะต้องระวังผลกระทบจากกรณีที่สหรัฐ จะพึ่งพาการผลิตในประเทศมากขึ้น ทำให้จะมีการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (NTMs) เพิ่มขึ้น สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน จะได้รับผลกระทบจากนโยบาย เรื่องสิ่งแวดล้อม และรถยนต์ไฟฟ้า และยังให้ความสำคัญเรื่องการผลิตที่จะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องระวังในเรื่องการย้ายฐานการผลิตมาไทย ที่จะลดลง หลังจากสงครามการค้าชะลอตัว

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาดูนโยบายด้านการเงินการคลัง ของสหรัฐ ที่จะมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อค่าเงินบาทในอนาคตได้

นายสมเด็จกล่าวว่า กรมฯ จะยังเดินหน้าขยายตลาดส่งออกในสหรัฐ อย่างต่อเนื่องต่อไป เพราะเป็นตลาดหลักที่สำคัญ โดยปี 2564 ตั้งเป้าขยายตัวที่ 4%

สำหรับสินค้าที่มีศักยภาพ คือ อาหารสำเร็จรูป อาหารเสริม สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน วัสดุแต่งสวน สินค้าสัตว์เลี้ยง เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ออกกำลังกาย เกมส์และความบันเทิงภายในบ้าน และสินค้าป้องกันส่วนบุคคล เช่น ผลิตภัณฑ์ PPE เป็นต้น ที่จะมีความต้องการจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย

export land bridge ๒๐๑๐๒๒ 1

การทำกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก ในตลาดสหรัฐ จะให้ความสำคัญกับการผลักดันสินค้าและบริการ ที่มีศักยภาพของไทย โดยเฉพาะ สินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป เช่น อาหารแปรรูป สินค้าเกษตรอินทรีย์ ข้าว ผลไม้ไทย สมุนไพรไทย เป็นต้น

ทั้งนี้ จะเน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และโปรโมตผ่านโซเชียลมีเดีย ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์และสตาร์ทอัพ จะได้เข้าร่วมกิจกรรมงานแสดงสินค้าในรูปแบบออนไลน์ และสำหรับเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน มีการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในสหรัฐฯ รวมถึงจัด Virtual Trade Show ในกลุ่มสินค้าอาหาร อุปกรณ์เครื่องใช้ทางการแพทย์ (PPE) เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

“ทั้งหมดนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเจรจาธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย และจะเน้นการจัดเจรจาธุรกิจออนไลน์ในกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดสหรัฐ อีกด้วย”นายสมเด็จกล่าว

นอกจากนี้ จะได้เร่งพัฒนาและส่งเสริมการค้าปลีกสมัยใหม่ ผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ ผ่านการจัดตั้งห้างสรรพสินค้าออนไลน์ TOPTHAI Store บนแพลตฟอร์ม Amazon.com,การประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์สินค้าไทย เจาะกลุ่มผู้บริโภค Millennials and Gen Z ผ่าน Social Influencers ต่าง ๆ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo