Business

ธนาคารโลกคาด ‘เศรษฐกิจไทย 2564′ ขยายตัว 4% อีก 2 ปีถึงฟื้นจากพิษไวรัส

ธนาคารโลก มอง “เศรษฐกิจไทย 2564″ ขยายตัวแตะ 4% ใช้เวลา 2 ปีถึงฟื้นจากพิษไวรัส ชมรับมือโควิด-19 ได้ดี แต่ยังมีความเสี่ยงสูง

สำนักข่าวซินหัวรายงานคาดการณ์ของ ธนาคารโลก (World Bank) ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการสนับสนุนของนโยบายการคลัง

ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของ เศรษฐกิจไทย จะฟื้นตัวแตะที่ 4% ในปี 2564 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% ในปี 2565

ธนาคารโลก เศรษฐกิจไทย 2564

ธนาคารฯ ได้คาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจไทย จะหดตัว 6.5% ในปี 2563 เนื่องจากมาตรการและการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ที่เข้มงวดได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งนำไปสู่การลดลงของตำแหน่งงานและรายได้ ขณะที่การลงทุนและการส่งออกภาคเอกชนต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) เช่นกัน

รายงานระบุว่า ผลการดำเนินงานของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งในด้านขนาด ความเร็ว และการกำหนดเป้าหมายของการรับมือทางการคลัง ซึ่งมุ่งใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในด้านการจ่ายเงินเยียวยา การรับมือทางการแพทย์ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

อย่างไรก็ดี ธนาคารฯ เตือนว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากความเสี่ยงจากแหล่งแพร่เชื้อทั้งในและนอกประเทศ

หากการติดเชื้อระลอกใหม่ในไทยไม่ได้รับการควบคุมที่ดี หรือหากผู้ป่วยทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้น และการแจกจ่ายวัคซีนล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักต่อเนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการล็อกดาวน์

ทั้งนี้ เมื่อนับถึงวานนี้ (20 ม.ค. 64) ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในไทย รวมอยู่ที่ 12,653 ราย ซึ่งในนี้เป็นผู้ป่วยที่ได้รับรายงานตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 มากกว่า 8,000 ราย โดยมีมากกว่า 60 จังหวัด จาก 77 จังหวัดของประเทศที่ตรวจพบผู้ป่วยแล้ว

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยว่าแม้โรคโควิด-19 ระลอกล่าสุดจะแพร่กระจายรวดเร็วกว่าเมื่อปี 2563 แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะไม่รุนแรงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดมาตรการที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม โดยมีธุรกิจที่ถูกระงับจำนวนน้อยลง

get 1 17 e1611202220452

เปิดมุมมองคลัง คาด “เศรษฐกิจไทย 2564” ขยายตัวแค่ 3.6%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยจาก กระทรวงการคลัง

สำหรับปี 2563 กระทรวงการคลังเห็นว่า เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มหดตัวมากกว่ามุมมองล่าสุดของธนาคารโลก โดยกระทรวงการคลังประเมินว่าจะติดลบ 7.8% เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ได้รับผลกระทบรุนแรง จากมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศ การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

ในส่วนของการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มหดตัว 8.2% โดยการส่งออกไปอาเซียนและตะวันออกกลางยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและจีนเริ่มทยอยฟื้นตัว

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัว 3.6% คาดว่า การส่งออกจะกลับมาขยายตัวที่ 4.5% ขณะที่การส่งออกบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า เนื่องจากคาดว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้จำกัด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9 ล้านคน

ด้านอุปสงค์ในประเทศการใช้จ่ายภาครัฐ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ในส่วนการบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยฉุดรั้งจากหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงรายได้ครัวเรือนที่เปราะบาง และไม่แน่นอนสูง โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณผู้ว่างงาน และเสมือนผู้ว่างงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันอยู่ในระดับสูง และผู้มีงานทำมีรายได้ลดลงจากค่าจ้างและค่าล่วงเวลาที่ลดลง

ขณะที่เสถียรภาพระบบการเงินไทย ยังมีความเสี่ยงสูง ตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมากจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ฐานะทางการเงิน ของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเปราะบาง และมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้

shutterstock 1245206278 e1605521723348

อย่างไรก็ตาม มาตรการด้านการเงิน และสินเชื่อเชิงรุกของภาครัฐที่ได้ดำเนินการไป รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมที่ตรงจุดมากขึ้น เช่น โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจธุรกิจไทยมั่นคง และมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อยโดยการรวมหนี้ จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่า การฟื้นตัวของ เศรษฐกิจไทย จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ถึงจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่แตกต่างกันมาก ระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม ภาครัฐจึงควรใช้มาตรการที่ตรงจุด ทันการ เอื้อให้เกิดการปรับตัวอย่างเหมาะสม รวมทั้งบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น

ทั้งนี้ นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนนโยบายการคลังผ่านต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินที่อยู่ในระดับต่ำภายใต้สภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีอยู่สูง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo