Opinions

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีกับพฤติกรรมการรับชมทีวี

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight
18676

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคไปจากเดิม “ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการดําเนินชีวิตประจําวัน การประกอบธุรกิจ” ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีอยู่เดิม

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือ “Disruptive Technologies” เหล่านี้ มีตัวอย่างเช่น บริการ Grab Taxi หรือ Uber ที่เข้ามาทดแทนการเรียกใช้บริการแท็กซี่ในรูปแบบเดิมที่จะต้องโทรเข้าคอลล์เซ็นเตอร์ เท่านั้น หรือการทําธุรกรรมทางการเงิน ที่สามารถทําผ่านมือถือ อย่าง “โมบาย แบงกิ้ง” โดยไม่ต้องใช้บัตร (Cardless Transactions) เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ทําให้เกิดเป็นบริการแบบสังคมไร้ เงินสดขึ้น (Cashless Society) เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ทําให้ ผู้ประกอบการรายเดิมจําเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

อุตสาหกรรมโทรทัศน์นั้นก็ได้ รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดังกล่าวเช่นกัน ในอดีตหากพูดถึงช่องทางรับชมทีวี หลายคนจะต้องนึกถึงการรับชมรายการโทรทัศน์ผ่านทางเสาอากาศกางปลาหรือหนวดกุ้งเป็นอันดับแรก ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น ได้มีการพัฒนานําเทคโนโลยีดาวเทียมและเคเบิลมาใช้ ในการออกอากาศรายการโทรทัศน์

จนถึงปัจจุบันเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้ สร้างบริการรูปแบบใหม่ขึ้นมาในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ นั่นก็คือ บริการสื่อออนไลน์ อย่าง Facebook, YouTube หรือ LineTV เป็นต้น

ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
ข้อมูล : สํานักสํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์

จากรายงานของ Hootsuite และ We are social ในปี 2561 พบว่าประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 57 ล้านคน หรือ 82% ของประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 24% และมีการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงถึง 79% ทั้งนี้ การใช้อินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2558 ที่มีอยู่เพียง 37%

จากการสํารวจพฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2561 ของสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉลี่ยนานขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3 ชั่วโมง 41 นาทีต่อวัน โดยเป็นการใช้งานโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram และ Twitter สูงถึง 3 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน

ขณะที่การรับชมวิดีโอสตรีมมิ่ง เช่น YouTube หรือ Line TV มีชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 35 นาทีต่อวัน ส่วนการใช้ แอพพลิเคชั่นเพื่อพูดคุย เช่น Messenger และ LINE เฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชั่วโมงต่อวัน การเล่นเกมออนไลน์อยู่ที่ 1 ชั่วโมง 51 นาทีต่อวัน และการอ่านบทความหรือหนังสือทางออนไลน์อยู่ที่ 1 ชั่วโมง 31 นาทีต่อวัน

จากการสํารวจการรับชมทีวีผ่านสื่อออนไลน์เทียบกับการรับชมโทรทัศน์แบบเดิมของ สพธอ. พบว่ามีสัดส่วนผู้ใช้งานอยู่ที่ 76.1% และ 23.9% ตามลําดับ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล

ผู้ชมทีวี ผู้ใช้อินเทอร์เน้ต ETDA

ปัจจัยที่ทําให้สื่อออนไลน์ได้ รับความนิยมมากขึ้น เป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตอย่าง 3G และ 4G ที่ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น มีความเร็วสูงขึ้นในราคาที่ถูกลง ทําให้ผู้บริโภคมีช่องทางในการรับชมรายการต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น สามารถรับชมรายการข่าวสาร ละคร หรือรายการวาไรตี้ย้อนหลังได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

โดยข้อมูลจาก สพธอ. พบว่า YouTube เป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคเลือกชมสื่อออนไลน์มากที่สุด เพราะสามารถเลือกชมวิดีโอที่ต้องการได้ ตามเวลาที่ต้องการ ไม่เหมือนกับการรับชมผ่านโทรทัศน์ที่ต้องรับชมตามช่วงเวลาของผังรายการแต่ละสถานี โดยจากผลสํารวจของ TNS Research ในปี 2561 พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 75% ใช้งาน YouTube ทุกวัน ส่วนใหญเป็นการฟังเพลง 70% รองลงมาเป็นการรับชมรายการโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นการรับชมย้อนหลังหรือรับชมซ้ำ 51%

ส่วน Facebook นั้นถือว่าเป็น Social Platform ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด โดยในปี 2561 มีจํานวนบัญชีที่เปิดใช้งานกว่า 51 ล้านบัญชี ซึ่งปีนี้ Facebook เริ่มหันมาสนใจทําธุรกิจสื่อออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook Live เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดรายการกีฬาไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งฟุตบอล MLS (Major League Soccer) และเบสบอล MLB (Major League Baseball) ของประเทศสหรัฐ การถ่ายทอดฟุตบอลลาลีกาของสเปน

โดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอลรายการสําคัญอย่างพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่ Facebook ชนะการประมูลและได้รับสิทธิพิเศษในการออกอากาศฟุตบอลพรีเมียร์ลีกระหว่าง ปี 2562-2565 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม กัมพูชา และลาว ด้วยมูลค่า 200 ล้านปอนด์ ซึ่งหมายความว่าในปี 2562-2565 จะมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกผ่านช่องทางออนไลน์ของ Facebook เป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากการถ่ายทอดสดในรูปแบบเดิมที่มีการถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์เป็นหลักแบบที่ BeIN Sports ได้ ประมูลชนะไปในฤดูกาลที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมี Line TV ที่เป็นสื่อออนไลน์ที่คล้ายกับ YouTube เพียงแต่ผู้ชมจะไม่สามารถสร้างวิดีโอของตัวเองได้ โดยวิดีโอส่วนใหญ่นั้นจะมาจากความร่วมมือกันระหว่างทาง Line TV กับสถานีโทรทัศน์ ซึ่งจะเป็นการนํารายการโทรทัศน์ต่างๆ มาให้ ผู้ชมรับชมย้อนหลังก่อนใครหลังจากรายการนั้นออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์ไปแล้ว หรือเป็นรายการที่ทาง Line TV สร้างขึ้นมาเอง ล่าสุด Line TV ได้ มีการร่วมมือกับทางช่อง 3 ในการนําละคร ข่าว วาไรตี้ และเพลงประกอบละคร ที่ออกอากาศไปแล้ว 48 ชั่วโมง นํามาให้ ผู้ชมรับชมผ่านทาง Line TV ใน LINE STATION “CH3 THAILAND” ด้วย หลังจากที่มีความร่วมมือกับช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ช่องวัน และช่องเวิร์คพอยท์ทีวีไปแล้วก่อนหน้านี้

ผู้ชมทีวี ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต GroupM

แนวโน้มที่ผู้บริโภคทั่วโลกใช้เวลากับสื่อแต่ละรูปแบบ พบว่าจํานวนการรับชมสื่อออนไลน์ เพิ่มขึ้นสวนทางกับการรับชมสื่อโทรทัศน์ (Linear TV) ที่มีแนวโน้มลดลง โดยจากรายงาน “State of Digital” ของ GroupM พบว่า ในปี 2561 ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้เวลากับสื่อโดยรวมเฉลี่ย 9.73 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 9.68 ชั่วโมง

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่า ผู้บริโภคจะใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในปี 2561 โดยที่สื่อออนไลน์ จะมีส่วนแบ่ง 38% และสื่อโทรทัศน์อยู่ที่ 37% รองลงมาเป็นสื่อวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ (ตามลําดับ) สอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของสื่อดิจิทัลที่ทางสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2561 เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลจะเติบโต 21%

จากรายงานมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของ KANTAR TNS เมื่อกลางปี 2561 พบว่า Facebook และ YouTube ยังครองส่วนแบ่งมากที่สุด โดยมีสัดส่วน 30% และ 18% ตามลําดับ เนื่องจากความต้องการใช้โทรศัพท์มือถือและความนิยมของผู้บริโภคในการใช้ โซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น

โฆษณาดิจิทัล DAAT

ดังนั้นผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์รายเดิมทั้งผู้ให้บริการโทรทัศน์ (Service Provider) และผู้ผลิตรายการ (Content Provider) จึงจําเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้ บริการที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงจาก “Disruptive Technologies” และสามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการรายใหม่ได้

โดยเห็นได้ จากการที่ผู้ให้บริการโทรทัศน์รายเดิมเริ่มหันมาใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในการออกอากาศรายการโทรทัศน์เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการรับชมผ่านทางเว็บไซต์ หรือ แอพพลิชั่นของสถานีโทรทัศน์เอง รวมไปถึงการให้บริการผ่านช่องทาง YouTube และ Facebook ซึ่งเป็น Social Platform ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก เพื่อเป็นการเพิ่มจํานวนผู้ชม ซึ่งมีผลต่อรายได้ค่าโฆษณาที่ผู้ให้บริการโทรทัศน์จะได้รับ

ทั้งนี้ หน่วยงานกํากับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนได้ศึกษาแนวทางในการกํากับดูแลธุรกิจรูปแบบใหม่นี้เช่นกัน โดยในอนาคตอาจจะมีการเก็บภาษีกิจการผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเป็นธรรม

สำนักงาน กสทช.

บทความโดย นางสาวพรประภา วงษ์สนิท สํานักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช.

สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์