Business

เยียวยา ‘ส่งออก-นำเข้า’ กรมการค้าต่างประเทศ งัด 6 มาตรการบรรเทาพิษโควิด

เยียวยา ส่งออก-นำเข้า กรมการค้าต่างประเทศ คลอด 6 มาตรการเร่งด่วน บรรเทาผลกระทบ เข้มเจ้าหน้าที่ทำไทม์ไลน์ ชูนวัตกรรมดิจิทัล ป้องกันโควิดแพร่ระบาด

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าต่างประเทศ ได้อำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก นำเข้า โดยได้ดำเนิน 6 มาตรการ เยียวยา ส่งออก-นำเข้า ลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และช่วยให้ผู้ประกอบการยังคงสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้ต่อไป และยังเป็นการปฏิบัติตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดความเสี่ยง ความแออัด และความจำเป็นในการเดินทางมายังกรมฯ เพื่อติดต่อราชการ

เยียวยา ส่งออก-นำเข้า

สำหรับ 6 มาตรการที่จะดำเนินการ ได้แก่

1. ขยายเวลาวันหมดอายุ สำหรับบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า และบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจ ที่จะหมดอายุในช่วงระหว่างวันที่ 15 มกราคม – 30 เมษายน 2564 ออกไปอีก 3 เดือนโดยอัตโนมัติ

2. อนุญาตให้ผู้ประกอบการ ส่งคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก-นำเข้าสินค้า ที่มีมาตรการควบคุมการส่งออก-นำเข้าผ่านทางไปรษณีย์ พร้อมสามารถตรวจสอบผลการพิจารณา และเลขทะเบียน ผ่านระบบลงทะเบียนผู้ประกอบการออนไลน์ ของกรมฯ (Registration Database) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

3. เชิญชวนให้ผู้ประกอบการ เลือกใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) หรือการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (ASEAN Wide Self Certification: AWSC) สำหรับการส่งออก ไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน แทนการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบกระดาษ

4. ผลักดันให้ผู้ประกอบการ ใช้ระบบการลงลายมือชื่อ และตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว เพื่อลดการสัมผัสกระดาษ และลดระยะเวลาที่ใช้ในการรับบริการ

สำหรับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทั่วไป (C/O ทั่วไป) ให้ผู้ประกอบการประสานผู้นำเข้าปลายทาง เพื่อยกเว้นการขอ C/O ทั่วไป สำหรับการผ่านพิธีการศุลกากรในช่วงนี้

5. เพิ่มการให้บริการออกหนังสือสำคัญ การส่งออก-นำเข้าสินค้าแบบไร้เอกสาร (Paperless) รวมเป็นจำนวน 38 รายการ โดยกรมฯ ได้เชื่อมโยงข้อมูลหนังสือสำคัญฯ กับกรมศุลกากรผ่านระบบ National Single Window (NSW) ซึ่งผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือสำคัญฯ เพื่อประกอบพิธีการทางศุลกากรอีกต่อไป

6. อนุญาตให้ผู้ประกอบการ ใช้แบบฟอร์มรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ตามที่กรมฯ กำหนดมา ยื่นประกอบการขอรับหนังสือรับรองแสดงการได้สิทธิชำระภาษีตามพันธกรณี ตามความตกลงการเกษตร ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ในช่วงระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 30 เม.ย.2564 กรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถนำ C/O จากประเทศต้นทางมาแสดงได้ เนื่องจากประเทศต้นทางล็อกดาวน์

กีรติ รัชโน
กีรติ รัชโน

นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการจัดทำระบบ Timeline a Day Report สำหรับให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปกรอกข้อมูลการเดินทาง และกิจกรรม ที่ได้ดำเนินการในแต่ละวัน เช่น สถานที่ที่ไปทำกิจกรรม ช่วงเวลา และรูปแบบการเดินทาง เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการติดตาม และกำกับดูแล เพื่อลดโอกาสของเจ้าหน้าที่ ในการเข้าพื้นที่เสี่ยง ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการว่า กรมฯ ได้คำนึงความปลอดภัยในการให้บริการอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน ได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบการให้บริการ โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมดิจิทัล มาเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ และอำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งนำรายได้เข้าประเทศ ในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น

ขณะที่สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ คาดปี 2564 การส่งออกจะขยายตัว 3 – 4% สินค้าที่มีแนวโน้มจะส่งออกได้มากขึ้น คือ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักร อุปกรณ์ส่วนประกอบรถยนต์ น้ำมันสำเร็จรูปและข้าว โดยคาดการณ์ว่า การส่งข้าวทางเรือจะเติบโต 15% ยางพารา 5% มันสำปะหลัง 5% ส่วนน้ำตาลทรายการส่งออกจะหดตัว 11% ขณะที่สินค้ากลุ่มยานพาหนะจะเติบโต 5%

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย ในปี 2564 คือ การกลับมาของโควิด-19 ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่มีทิศทางปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยกับเงินดอลลาร์ ณ วันที่ 2 มกราคม 2564 อยู่ที่ 29.99 บาทต่อดอลลาร์ ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำกว่าปี 2562

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo