Business

‘ประกันสังคม มาตรา 33′ มีสิทธิ์รับเยียวยาอะไรบ้างในปี 2564?

เป็นความชอกช้ำของ “ประกันสังคม มาตรา 33” หรือลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งมักไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและ เยียวยา โควิด-19 จากรัฐบาล โดยล่าสุดรวมถึงโครงการ “เราชนะ” ที่จะจ่ายเงินเยียวยาโควิด-19 รอบใหม่ในวงเงิน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน หรือรวมแล้ว 7,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งผู้ประกันตน มาตรา 33 สามารถเข้าร่วมได้ และรัฐบาลได้เพิ่มสิทธ์ประโยชน์ผ่านกองทุนประกันสังคมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 อีกด้วย

ประกันสังคม มาตรา 33 เยียวยา

“ประกันสังคม มาตรา 33″ เตรียมลงทะเบียน “คนละครึ่ง”

ในปี 2564 มาตรการ เยียวยา โควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ ประกันสังคม มาตรา 33 สามารถเข้าร่วมได้ คือ โครงการคนละครึ่ง

โครงการ คนละครึ่ง เป็นมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อย โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินซื้อสินค้าตามร้านค้ารายย่อยต่างๆ 50% และประชาชนจ่ายอีก 50% สูงสุดไม่เกินวันละ 150 บาท ยอดรวมการใช้สิทธิ์ตลอดโครงการไม่เกิน 3,500 บาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาเปิดการลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งเฟสที่ 2 รอบเก็บตก จำนวน 1.34 ล้านสิทธิ์ ในวันนี้ (19 ม.ค. 64) และเปิดลงทะเบียนได้เร็วสุดในวันพรุ่งนี้ (20 ม.ค. 64)

โดยคุณสมบัติของประชาชนที่มีสิทธิลงทะเบียน “คนละครึ่งเฟส 2” รอบเก็บตก คือ

  • มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
  • มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ณ วันลงทะเบียน
  • เป็นผู้มีสัญชาติไทย
  • ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน)
  • ต้องมีแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง”

เพราะฉะนั้นประกันสังคม มาตรา 33 รอฟังสัญญาณจากกระทรวงการคลัง รอลงทะเบียนโลด!

shutterstock 1245206278

“ประกันสังคม” เพิ่มเงินทดแทน ช่วยแรงงานจากพิษโควิด-19

นอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐแล้ว กองทุนประกันสังคมเองก็ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์และเงินทดแทนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 ดังนี้

  • ลดเงินสมทบเหลือ 3%

กองทุนประกันสังคมได้ลดเงินสมทบให้นายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 จากปกติต้องจ่าย 5% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 750 บาทต่อเดือน เหลือ 3% ของค่าจ้าง หรือสูงสุด 450 บาทต่อเดือน มีผลเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2564

  • จ่ายเงินทดแทน 50% ในกรณีว่างงาน (ชั่วคราว) เนื่องจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19

ปี 2564 กองทุนประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทน กรณีว่างงาน (ชั่วคราว) จากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โดยผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนดังกล่าวไม่เกิน 90 วันภายใน 1 ปี สำหรับเงื่อนไขเป็นดังนี้

1.เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือนย้อนหลัง

2.ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่งจากไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ต้องกักตัวเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือนายจ้างต้องหยุดกิจการ เนื่องจากคำสั่งของราชการ

3.ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

  • จ่ายเงินทดแทน 70% กรณีถูกเลิกจ้าง

กรณีว่างงาน เพราะถูกเลิกจ้าง ประกันสังคม มาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชย 70% ของค่าจ้างรายวัน ปีละไม่เกิน 200 วัน จากเดิมกองทุนฯ จ่ายเงินชดเชย 50% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 180 วันต่อปี

  • จ่ายเงินทดแทน 45% กรณีลาออก

กรณีว่างงาน เพราะลาออก ผู้ประกันตน มาตรา 33 จะได้รับเงินชดเชย 45% ของค่าจ้างรายวัน ปีละไม่เกิน 90 วัน จากเดิมจะได้รับเงินชดเชย 30% ไม่เกินปีละ 90 วัน

shutterstock 1659753442 e1606324024368

อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ออกมาในขณะนี้ดูเหมือนจะยังไม่ตรงใจผู้ประกันตน โดยสิ่งที่ผู้ประกันตน มาตรา 33 เรียกร้องมากที่สุดในปัจจุบันคือ การนำ “เงินสมทบชราภาพ” ซึ่งเป็นก้อนออกมาใช้ชั่วคราว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น แต่กระบวนการตอบสนองเรื่องดังกล่าวของกองทุนประกันสังคมยังเป็นไปอย่างล่าช้าและยังไม่มีความชัดเจนที่เป็นรูปธรรม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo