Business

ค้าปลีกไทย สูญ 5 แสนล้านบาท เซ่นพิษโควิด วอนขอยาแรง ชง 5 มาตรการเร่งด่วน

ค้าปลีกไทย สูญ 5 แสนล้านบาท จากพิษโควิด วอนภาครัฐ อัดยาแรงอย่างต่อเนื่อง อุ้มค้าปลีก ช่วยเหลือ SME ไทย พร้อมเสนอ 5 มาตรการเร่งด่วน ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธาน สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ในปี 2563 โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนัก ส่งผลให้ ค้าปลีกไทย สูญ 5 แสนล้านบาท โดยดัชนีค้าปลีกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปี 2563 ลดลงจาก ปี 2562 จาก 2.8 % มาเป็นติดลบ 12.0 % ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดลบถึงสองหลัก และคาดว่า ไตรมาส 1/2564 ดัชนีค้าปลีก ยังคงติดลบราว 7-8 %

escalator 283448 1280

ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีกไทย ถือเป็นฐานรากสำคัญ ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ เนื่องจาก เป็นระบบที่ครอบคลุมตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ซึ่งมีผู้ประกอบการในห่วงโซ่ค้าปลีก รวมทั้งหมดในระบบ 1.3 ล้านราย และมีการสร้างงานโดยตรงกว่า 6.2 ล้านราย

เมื่อค้าปลีก ถูกผลกระทบ เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดผลเสียหายในวงกว้าง เกิดอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น รายได้ลดลง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น SME ทยอยปิดตัวลง กำลังซื้อหดหาย จึงจำเป็นต้องเร่งเยียวยาในระบบค้าปลีกโดยเร็วที่สุด

สำหรับ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ขอเสนอ 5 มาตรการวัคซีนช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยเน้นการเกิดขึ้นได้จริงอย่างต่อเนื่องและทันที ดังนี้

1. ภาครัฐทดลองเพิ่มทางเลือก สำหรับอัตราค่าจ้างแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นการลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มการจ้างงานใหม่ในภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ โดยการจ้างงานประจำ จะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มอัตราการจ้างงานแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นทางเลือก และสอดรับการให้บริการช่วงพีคของวันในแต่ละช่วง ให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด

ทั้งนี้ ภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการคาดว่าจะสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้ทันทีไม่น้อยกว่า 52,000 อัตรา และ เพิ่มได้ถึง 2 แสนอัตราในระยะยาว

ญนน์
ญนน์ โภคทรัพย์

2. ภาครัฐควรช่วยเหลือ SME โดยให้มีการปล่อยสินเชื่อ (Soft Loan) ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันออกมาตรการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ SME และ เกษตรกร ทำให้เข้าถึงสินเชื่อ ที่มีดอกเบี้ยอัตราพิเศษ

สมาคมฯ ขอเสนอให้ภาครัฐ พิจารณาการให้สินเชื่อพิเศษนี้ โดยผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก ซึ่งสามารถเข้าถึง SME เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 400,000 ราย ได้โดยตรงและอย่างรวดเร็ว และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยแพลตฟอร์มค้าปลีกนี้ ธนาคารจะได้รับการชำระหนี้อย่างตรงเวลา และครบถ้วน เป็นการลดภาระหนี้สูญของธนาคารอีกด้วย

3. ภาครัฐต้องเร่งพิจารณาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ซื้อขายผ่าน อีคอมเมิร์ซ อีมาร์เก็ตเพลส ที่นำเข้าจากต่างประเทศ

จากข้อมูล ETDA มูลค่า อีคอมเมิร์ซ มีมูลค่าราว 3 แสนล้านบาท ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน มีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน ไม่มีมาตรการเรื่องการเก็บภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่บาทแรก ทำให้ SME ไทยไม่สามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้เนื่องจาก SME ไทย ต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเต็มจำนวนตั้งแต่บาทแรก ถือว่าเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair Trade) และจะสร้างความเสียหายให้กับระบบค้าปลีกไทยในระยะยาว

4. ภาครัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงสูงกว่า 8 ล้านราย เพื่อผันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยมาตรการ ลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์

shopping

ขณะที่จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อเหล่านี้ ซึ่งคุ้นเคยกับการเดินทางไปต่างประเทศ และช้อปปิ้งสินค้าปลอดภาษี ยังมีความต้องการที่จะซื้อสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ทำให้ต้องหาซื้อสินค้าผ่านทาง สินค้าข้ามพรมแดน (Cross Borders) หรือ ตลาดหนีภาษี

ดังนั้น สมาคมฯ เสนอให้กระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงนี้ โดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทยสูงถึง 30% ซึ่งสูงที่สุดใน 15 ประเทศในแถบเอเชีย ทำให้คนหันไปซื้อสินค้าที่ต่างประเทศแทน จึงเสนอให้ทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวตามประเภทสินค้า เป็นแบบขั้นบันได เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 20% 15% และ 10% เพื่อให้มีส่วนต่างของอัตราภาษี และไม่เกิดผลกระทบกับแบรนด์ไทย ซึ่งจะสามารถสร้างเงินสะพัดได้กว่า 20,000 ล้านบาท ต่อไตรมาส

5. ภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และซูเปอร์มาร์เก็ต เข้าร่วมโครงการ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลาย และราคาต่ำได้มากขึ้น

จากงานวิจัย พบว่า สินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อหาเป็นประจำส่วนใหญ่ เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่กี่ชนิด อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่น ๆ การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ นอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บัตรแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกร ชุมชน และ ผู้ประกอบการ SME

“สมาคมค้าปลีกไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับและให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างสูงสุดกับรัฐบาล เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง” นายญนน์ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo