General

ดราม่า ‘เสือร้องไห้’ ตอกย้ำปัญหา ‘ของไทย’ สิทธิบัตรต่างชาติ

เกือบจะกลายเป็นดราม่าใหญ่โต ข้ามประเทศอีกครั้ง กับเรื่องราวของ “เสือร้องไห้” เนื้อย่างติดมัน อาหารพื้นบ้านไทย เมนูสุดโปรดของใครหลายๆ คน หลังมีข่าวว่า นักธุรกิจมาเลเซีย “ดาติน นูร์ คาร์ตินี นูร์ โมฮัมเหม็ด” ได้ยื่นเรื่องจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสูตรอาหารชนิดนี้ ที่มีชื่อเรียกขานในมาเลเซียว่า “ฮารีเมา เมอนางิส” (Harimau Menangis)

เรื่องราวนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่สื่อมาเลเซีย รายงานว่า บริษัทนูร์ ข่าน เอนเตอร์ไพรซ์ ของ นูร์ โมฮัมเหม็ด ผู้เป็นมารดาของ นูร์ นีโลฟา โมห์ด นูร์ ดาราสาวชื่อดังในประเทศ ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “ฮารีเมา เมอ กับกรมทรัพย์สินทางปัญญามาเลเซีย (IPO) โดยระบุว่า อาหารชนิดดังกล่าวเป็นมรดกทางภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของชาวมาเลเซีย และเตรียมที่จะเรียกเก็บผลประโยชน์ทางธุรกิจจากเมนูนี้

20210113 Harimau Menagis Trademark 01

อย่างไรก็ดี หลังโดนวิจารณ์ และโจมตีอย่างหนักในโลกออนไลน์ และจากชาวมาเลเซีย ที่มองว่า การกระทำของเธอเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ที่ขายเมนูดังกล่าว ทั้งยังเกิดคำถามตามมาว่า จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้อย่างไร ในเมื่อบริษัทนี้ ไม่ได้เป็นผู้ตั้งชื่อ และคิดค้นอาหารชนิดนี้ขึ้นมา เนื่องจากทราบกันดีว่าเมนู “เสือร้องไห้” เป็นเมนูพื้นบ้านของคนไทย

แรงต่อต้านที่กระหน่ำเข้ามา ทำให้ นูร์ โมฮัมเหม็ด ตัดสินใจถอนคำร้องการขอจดทะเบยียนเครื่องหมายการค้าอาหารชนิดนี้

มาเลย์เมล รายงานว่า นูร์ โมฮัมเหม็ด ได้ออกมาขอโทษ สำหรับความสับสนที่เกิดขึ้น พร้อมหวังว่า การตัดสินใจครั้งล่าสุดของเธอ จะทำให้ข้อถกเถียงต่างๆ ที่กลายเป็นไวรัลร้อนแรงบนโลกโซเชียล ยุติลง

“ฉันตัดสินใจ ที่จะทำเรื่องยกเลิกการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เฮอริเมา เมอนางิส อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อันที่จริงแล้ว ฉันยื่นเรื่องไป ก็เพื่อปกป้องแบรนด์ธุรกิจ และตัวแทนจำหน่ายของบริษัท จากสินค้าปลอมทั้งหลาย”

“ฉันขอโทษ และตระหนักถึงความสับสนที่เกิดขึ้น ฉันหวังว่า การตัดสินใจของฉัน จะสามารถอธิบายเรื่องราว และยุติเรื่องราวต่าง ๆ ลงได้”

ส่วนคำถามที่ว่า เธอตั้งใจที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของคนอื่น ๆ หรือไม่นั้น เธอยืนยันว่า ไม่เคยมีความตั้งใจเช่นนั้น

“ฉันไม่ได้ตั้งใจที่จะไปขัดขวางการทำมาหากินของใคร ฉันหวังว่า เรื่องนี้จะยุติลง และไม่ยืดเยื้อไปอีก”

shutterstock 1774256474

ต่างชาติจดสิทธิบัตร ‘ของไทย’ ไม่ใช่ครั้งแรก

เรื่องราวของชาวต่างชาติ นำอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ของไทย ไปจดสิทธิบัตรนั้น ไม่ใช่เพิ่งเกิดกับ “เสือร้องไห้” เป็นครั้งแรก

กรณีที่โด่งดัง และพูดถึงมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “ซอสพริกศรีราชา” ที่เคยเป็นเรื่องร้อนไปทั่วโลกโซเชียล หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้เผยแพร่คลิปว่า ตนเองได้เข้าไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต และพบว่า ซอสพริกศรีราชา แบรนด์คนไทย ขายในราคา 21 บาท แต่ชาวเวียดนามที่เอาศรีราชาไทย ไปจดลิขสิทธิ์ที่สหรัฐอเมริกา แล้วใช้ชื่อ “SRIRACHA” ไปทำจนรวยระดับพันล้าน พร้อมระบุว่า คนไทยเสียเปรียบเพราะไม่จดลิขสิทธิ์ เพราะทำแบรนด์ไม่เป็น

shutterstock 1486915052

ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะมีคนออกมาชี้แจงว่า ไม่ใช่ว่าไม่จด แต่ไปยื่นจดสิทธิบัตรกับกระทรวงพาณิชย์ ผ่านมา 7 ปี แล้วยังไม่ได้ แล้วจะไปสู้อะไรกับเขา พร้อมตำหนิการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาล จนทำให้เรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงไปทั่วทั้งสังคมออนไลน์”

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกมาชี้แจงถึงเรื่องนี้ โดยระบุ ว่า “ศรีราชา” เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ ตามกฎหมายเครื่องหมายการค้าของไทย และต่างประเทศ จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าและถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ แต่ผู้ประกอบการสามารถใช้คำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าได้ เช่น มีภาพ ชื่อหรือข้อความประกอบกับคำว่าศรีราชา

ในประเทศไทยเอง มีผู้ประกอบการไทยนำคำว่า “ศรีราชา” ไปใช้กับซอสพริกที่ตนผลิตหลากหลายยี่ห้อและขายในราคาที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ ที่มีผู้ประกอบการนำคำว่า “Sriracha” ไปใช้กับผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท ทั้งซอสปรุงรส ขนมขบเคี้ยว และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น

“กรณีดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของคำว่าศรีราชาและใช้ชื่อนี้แต่เพียงผู้เดียวได้”

shutterstock 1016625946

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของ “มังคุด”  ที่มีบริษัทสหรัฐ ยื่นจดสิทธิบัตร การนำน้ำสกัดมังคุด มาผลิตเป็นเครื่องดื่ม รวมทั้งวิธีการสกัด

“ตุ๊ก ตุ๊ก” ที่เมื่อปี 2543 บริษัทตุ๊ก ตุ๊ก อินเตอร์เนชั่นแนล สัญชาติอเมริกัน ขอยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “ตุ๊ก ตุ๊ก” ไว้ที่เกาะบริติช เวอร์จิน และได้รับการจดเครื่องหมายการค้าในปีต่อมา

shutterstock 126859979

ข้าวหอมมะลิ เมื่อปี 2541 บริษัทสหรัฐ พยายามยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยใช้ชื่อว่า “จัสมาติ” ซึ่งออกเสียงคล้าย “จัสมิน” ที่แปลว่า “(ข้าวหอม)มะลิ” ของไท ย นอกจากนี้ยังพยายามจะจดทะเบียนสิทธิบัตรด้วย โดยนำข้าวสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยไปปรับปรุงพันธุ์ แล้วจดสิทธิบัตรเป็นพันธุ์ข้าวของตัวเอง

shutterstock 567229531

กระท่อม ญี่ปุ่นจดสิทธิบัตร อนุพันธ์ของสารสกัด Mitragynine จากใบกระท่อม กระบวนการผลิต ยา และการนำไปใช้รักษาโรคในคนและสัตว์

กวาวเครือขาว บริษัทเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรในสหรัฐ ครอบคลุม 20 รายการเกี่ยวกับกวาวเครือขาว

เปล้าน้อย บริษัทญี่ปุ่น นำไปจดทะเบียนสิทธิบัตร สารสกัดจากเปล้าน้อย สำหรับรักษาโรคกระเพาะอาหาร

original 1542265471495

ไม่ต้องกังวล “เสือร้องไห้”

สำหรับเรื่องราวของ “เสือร้องไห้” นี้ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กรณีนี้หากพิจารณาตามหลักในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีความเป็นไปได้ว่า คำว่า “Harimau Menangis” อาจขัดหลักการจดเครื่องหมายการค้า เพราะเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ หรือคำที่จะทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าทราบ และเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้ แตกต่างไปจากสินค้าอื่น จึงอาจไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าในมาเลเซีย

อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวไม่กระทบต่อการใช้ชื่อเมนูอาหาร “เสือร้องไห้” ของผู้ประกอบการในไทย เนื่องจากคำขอดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้า “Harimau Menangis” ไม่ใช่คำว่า “เสือร้องไห้” อีกทั้งการให้ความคุ้มครองทางกฎหมายแก่เครื่องหมายการค้าดังกล่าว จะมีผลเฉพาะในประเทศที่ได้รับจดทะเบียน คือ เฉพาะประเทศมาเลเซียเท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo